สวนผักคนเมือง

ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก 


ภาพประกอบจากแฟนเพจสวนผักคนเมือง : ปลูกเมือง ปลูกชีวิต


สวนผักคนเมือง thaihealth


มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเทศกาลสวนผักคนเมือง 2017 (ครั้งที่ 4) ตอน เส้นทางอาหารเมือง : Bangkok’s Food Journey


โครงการสวนผักคนเมืองจัดตั้งขึ้นมาในปีนี้เป็นปีที่ 4 จากการสำรวจคนไทยพบว่าประชากรคนไทยโดยเฉพาะ "คนในเมือง" ทานผัก-ผลไม้ไม่เพียงพอ จึงชวนคนไทยปลูกผักกินเอง แบบปลอดภัยไร้สารเคมี และยังสร้างโครงการต้นแบบ “สวนผักบำบัด” แก้ปัญหากลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยซึมเศร้า เยียวยาใจควบคู่สร้างสุขภาพ


ภายในงานมีกิจกรรม workshop ให้ผู้ที่สนใจในการปลูกผัก รวมไปถึงการทำอาหารง่ายๆ โดยใช้ผักที่ปลูกเอง เช่น กิจกรรมสาธิตการทำอาหาร การสอนเพาะต้นอ่อน การหมักปุ๋ยจารเศษอาหาร การทำแปลงปลูกอย่างง่าย เป็นต้น รวมไปถึงยังมีการเสวนา และแสดงโชว์ร้องเพลงสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้แก่ประชาชนที่ร่วมงานอีกด้วย


จากการสำรวจพบว่า ประชาชนมากถึง 74.1% ยังขาดการกินผักและผลไม้ที่พอเพียง อีกทั้งสัดส่วนของคนที่ทานผัก-ผลไม้ไม่เพียงพอในแต่ละภาคพบว่า ภาคกลางมีสัดส่วนสูงสุด คือ 32.4% รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 28.8% ภาคใต้ 28% กรุงเทพฯ 21.6% และภาคเหนือ น้อยที่สุดคือต่ำกว่า 20% สาเหตุเนื่องมาจากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมือง


ประชากรส่วนใหญ่นิยมบริโภคอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารจากตลาดเป็นหลัก เพราะง่าย ไม่เสียเวลาในการทำอาหารเอง เอาเวลาทำอาหารไปทำกิจกรรมอื่นแทน อีกทั้งประชากรมีความกังวลต่อสารพิษสารเคมีในผักผลไม้อีกด้วย จากการสำรวจในปี 2559 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักผลไม้เกินกว่าค่า Minimum Residue Level (MRL) ถึง 46.4%


สวนผักคนเมือง thaihealth


โครงการสวนผักคนเมือง เป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายความคิดให้เกิดการปลูกผักในเมือง เป้าหมายคือการที่ประชาชนได้พึ่งพาตนเอง ทั้งด้านอาหาร และด้านการรับประทานผัก-ผลไม้ได้อย่างเพียงพอ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยการปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ อีกทั้งยังช่วยสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยในเมืองอีกด้วย


เกษตรในเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองปัจจุบัน โดยงานเทศกาลสวนผักคนเมือง เป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่แนวคิด เทคนิคความรู้ และรูปธรรมการเชื่อมโยงเรื่องการปลูกผักให้ ทั้งสมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง และผู้ที่สนใจทั่วไปได้นำไปประยุกต์ ปรับใช้ในวิถีชีวิตของตัวเอง เพื่อช่วยกันขยายผล และขับเคลื่อนเรื่องสวนผักคนเมืองให้ขยายกว้างต่อไป


การสนับสนุนกลุ่มคนในเมืองปลูกผักผ่านโครงการขนาดเล็กๆ นี้ ปัจจุบันทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบของการทำสวนผักประมาณ 170 กลุ่ม และผ่านการอบรมของศูนย์อบรมที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ มีคนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักประมาณ 8,000 คน และยังมีผู้เข้าร่วมอบรมปลูกผักประมาณ 10,000 คน เช่น โครงการสวนผักนักเรียน ห้วยขวาง มีการปลูกผักที่หลากหลาย เฉลี่ยที่ 20 – 30 ชนิดต่อพื้นที่ โดยความหลากหลายสูงสุดอยู่ที่ 63 ชนิด


สวนผักคนเมือง thaihealth


สวนผักคนเมืองนี้ ยังช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่ปอดให้กับเมืองรวมถึงคนในเมือง โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่รกร้างว่างเปล่า และพื้นที่สาธารณะให้เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่อาหารของเมือง ซึ่งช่วยพัฒนาพื้นที่ที่ไม่มีประโยชน์ ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงยังช่วยแก้ปัญหาพื้นที่เสี่ยงอันตรายของชุมชนและผู้คนที่อาศัยอยู่ในระแวกนั้น และการปลูกผักในเมืองยังช่วยพัฒนาพื้นที่และปรับภูมิทัศน์ที่ดีให้กับคนในชุมชน รวมไปถึงชุมชนอีกด้วย


นอกจากนี้การปลูกผักยังช่วยจัดการขยะในเมืองได้ด้วย โดยการจัดการขยะอินทรีย์ในเมืองเพื่อหมุนเวียนมาเป็นปัจจัยการผลิต สูงถึง 2,000 – 3,000 กิโลกรัม และขยะที่ย่อยสลายยาก เช่น ถังพลาสติก ขวดน้ำ ล้อรถยนต์ที่ไช้แล้ว วัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาเป็นภาชนะปลูกผัก อีกประมาณ 600 – 800 กิโลกรัมต่อปี รวมถึงการปลูกผักบนดาดฟ้า หรือการปลูกผักบนพื้นปูน ซึ่งจะช่วยลดเกราะความร้อนในเมืองได้อีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code