สวดมนต์ข้ามปีดีอย่างไร?

          ช่วงเทศกาลปีใหม่ มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่จะเฉลิมฉลองข้ามปีเก่ารับปีใหม่ไปพร้อมๆ กับดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายคนจึงส่งท้ายคืนข้ามปีด้วยอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท


 /data/content/26744/cms/e_abcimquw5789.jpg


         สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายจึงขอนำเสนอกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เริ่มต้นดี ชีวิตดี ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรับวันใหม่ รับปีใหม่ ด้วยสติและความเป็นสิริมงคล โดยจัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยพิธีสวดมนต์ชำระจิตส่งท้ายปี สร้างบุญบารมีรับปีใหม่ เนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ในปีนี้ จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 31 ธันวาคม 2557 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม 2558 ณ บริเวณลานหน้าองค์พระประธานพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม


          สำหรับพิธีสวดมนต์ชำระจิตส่งท้ายปี สร้างบุญบารมีรับปีใหม่ เนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ในปีนี้ จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 31 ธันวาคม 2557 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม 2558 ณ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เริ่มต้นด้วยกิจกรรมธรรมะสัญจร โดยพระวิทยากรตั้งแต่เวลา 16.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ก่อนจะเตรียมการเข้าสู่พิธีการ สวดมนต์ข้ามปี 2557-2558 ในเวลา 18.00 น. และต่อเนื่องเรื่อยไปจนถึงเวลา 01.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2558


          การสวดมนต์ข้ามปีนั้นเป็นประเพณีนิยมของชาวไทยมาแต่เดิม โดยก่อนสิ้นปี พระสงฆ์จะไปเจริญพระพุทธมนต์บทนพ เคราะห์ที่กรมประชาสัมพันธ์ จากนั้นก็จะรอเวลาเที่ยงคืนเพื่อเจริญพระพุทธมนต์บทชัยมงคลคาถา ออกอากาศไปทั่วประเทศ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ต่อมา เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้นำคณะสงฆ์วัดสระเกศ ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีขึ้น ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศ


          โดยอนุวัติตามโบราณพระราชประเพณีแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เคยประกอบพิธีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อันเป็นประเพณีปีใหม่ของไทยที่มีมาแต่เดิม การสวดมนต์ข้ามปี จึงถือได้ว่าเริ่มจัดขึ้นที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหารเป็นครั้งแรก และในปีพุทธศักราช 2549 กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้เห็นความสำคัญของการสวดมนต์ข้ามปี จึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์วัดสระเกศ จัดสวดมนต์ข้ามปีขึ้นอย่างเป็นทางการ และต่อมาคณะสงฆ์มีความเห็นร่วมกันว่า การสวดมนต์ข้ามปีเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างแพร่หลาย และเป็นค่านิยมที่งดงาม ควรแก่การส่งเสริม ที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อเดือนธันวาคม 2553 ณ ตำหนัก สมเด็จฯ วัดสระเกศ จึงได้มีมติให้วัดทุกวัดจัดสวดมนต์ข้ามปี โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นศูนย์กลางการอำนวยการ และให้วัดเจ้าคณะจังหวัดเป็นศูนย์กลางการสวดมนต์ของจังหวัดนั้น ๆ (บทความ 'สวดมนต์ข้ามปี" โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จากเว็บไซต์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)


/data/content/26744/cms/e_bcfhknstvz27.jpg 


         การสวดมนต์ข้ามปีนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ แถมยังให้คุณประโยชน์ต่อจิตใจและสุขภาพอีกด้วย และนี่คือประโยชน์ของการสวดมนต์ข้ามปี


          1. ช่วยให้จิตเป็นสมาธิ (Meditation) เพราะขณะนั้น ผู้สวดต้องสำรวมใจแน่วแน่ มิฉะนั้นจะสวดผิดท่อนผิดทำนอง เมื่อจิตเป็นสมาธิความสงบเยือกเย็นในจิตจะเกิดขึ้น


          2. เป็นการกระทำที่ได้ปัญญา ถ้าการสวดมนต์โดยรู้คำแปลรู้ความหมายก็ย่อมทำให้ผู้สวดได้ปัญญาความรู้


          3. เป็นการตัดความเห็นแก่ตัว เพราะในขณะนั้นอารมณ์จะไปหน่วงอยู่ที่การสวดมนต์อย่างตั้งใจ ไม่ได้คิดถึงตัวเอง ความโลภ โกรธ หลง จึงมิได้เกิดขึ้นในจิตตน


          4. เป็นสิริมงคล แก่ชีวิตตน และบริวาร


          5. สามารถไล่ความขี้เกียจได้ เพราะขณะสวดมนต์ อารมณ์เบื่อ เซื่องซึม ง่วงนอน เกียจคร้านจะหมดไป และเกิดความแช่มชื่นกระฉับกระเฉงขึ้น


          6. เปรียบเสมือนการได้เฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะขณะนั้นผู้สวดมี กาย วาจา ปกติ (มีศีล) มีใจแน่วแน่ (มีสมาธิ) มีความรู้ ระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า (มีปัญญา) เท่ากับได้เฝ้าพระองค์ด้วยการปฏิบัติบูชา ครบไตรสิกขาอย่างแท้จริง.


          ตำนานพระไตรสรณคมน์


          ไตรสรณคมน์ในบทนี้คือ พุทธรัตนะ ธัมมรัตนะ สังฆรัตนะ ครบสมบูรณ์ในวันแห่งการประกาศพระธัมมจัก อาสาฬหมาส เพ็ญเดือน 8 ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโปรดปัญจวัคคีย์ มีพระอัญญาโกฑัญญะเป็นปฐมได้ดวงตาเห็นธรรม ทรงโปรดให้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาในครั้งนั้น นับได้ว่ามีพระรัตนตรัยครบสมบูรณ์ทั้ง 3 ประการ


          พระรัตนตรัยจึงเป็นสรณะที่พึงระลึกถึง ซึ่งพระคุณของพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ระลึกถึงพระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ยังการรักษาผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว พระสงฆ์ คิ สาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ฟังคำสอนและสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตามด้วย พระรัตนตรัยทั้ง 3 นี้ จึงเป็นหลักสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสให้มั่นคงต่อพระรัตนตรัย


          อานิสงส์ พระไตรสรณคมน์


          1. ย่อมได้ความเป็นพุทธบริษัทโดยแท้


          2. ย่อมได้สรณะที่พึ่งของผู้ระลึกถึงอยู่ทุกเมื่อ


          3. ย่อมได้ความบริบูรณ์แห่งอริยทรัพย์คือรัตนตรัยสมปรารถนา


          4. ย่อมถึงซึ่งความประสงค์ในมรรค ผล สวรรค์ นิพพานอย่างฉับพลัน


          5. ย่อมเป็นผู้เทียบเท่าเทวดาโดยฐานะอันเป็นทิพย์ ๑๐ อย่างคือ อายุ วรรณะ สุขะ ยศ อธิปไตย รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code