สร้าง ‘ครอบครัว’ เข้มแข็งรับแม่วัยรุ่นท้องไม่พร้อม
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เธอตัดสินใจอุ้มท้องขณะที่เรียนหนังสือในชั้นมัธยมปีที่ 2 แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนวัยนี้ ที่จะตัดสินใจแบกรับความเป็นแม่ แต่เพราะไม่อยากทำแท้งเธอ และสามีที่อยู่วัยเดียวกัน ยอมที่จะร่วมกันฝ่าฟันปัญหานี้ไปด้วยกัน ชลิตา หะวัน ในวัยอายุ 20 ปีในวันนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็น "แม่" ในวัยที่แทบจะไม่มีความพร้อมใดๆ
ชชลิตา ในฐานะตัวแทนเครือข่าย คุณแม่วัยรุ่น จังหวัดสุรินทร์ เล่าว่า รู้ว่าตั้งท้องในช่วงสอบเทอมสุดท้ายขึ้นมัธยมปีที่ 3 จึงไม่ไปสอบ ตอนนั้นเครียด และคิดว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร กลัวไปทุกอย่าง ตั้งแต่เสียงนินทาของเพื่อนบ้าน และกลัวจะเลี้ยงลูกไม่เป็น
"ใจไม่อยากทำแท้งเลย เพราะเป็นลูกของเรา โชคดีที่แฟนไม่ทิ้งไปไหน ยังอยู่ และสู้ไปด้วยกัน" ชลิตาบอก
แม้แฟนของเธอจะอายุห่างกันไม่มากนัก แต่เขาก็พร้อมที่จะรับผิดชอบ และสร้างครอบครัวไปด้วยกัน ทำให้ความไม่พร้อมของแม่วัยรุ่นอย่าง ชลิตาผ่านอุปสรรคมาได้
เธอยอมรับว่า ครอบครัวอาจจะไม่เหมือนกันอื่นๆ ที่แฟนยังเรียนหนังสือ และตัวเธอเองต้องออกมาเพื่อเลี้ยงลูก แต่ก็คิดว่าไม่เป็นไหรเดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเอง
"อายเหมือนกันที่ต้องมาเลี้ยงลูกตั้งแต่ยังเด็ก แต่พอคลอดลูกออกมา ก็ไม่สนใจอะไรทั้งหมด เสียงนินทาของชาวบ้านก็ไม่สนอีกต่อไป รู้แต่ว่าต้อง เลี้ยงลูกให้ได้"
โชคดีที่ครอบครัวเธอช่วยกัน แก้ปัญหา สามีก็พร้อมจะเปลี่ยนตัวเองเพื่อเป็นหัวหน้าครอบครัวแม้จะยัง ไม่พร้อม ทำให้เธอมีโอกาสไปเรียนต่อการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) หลังคลอด แต่ในช่วงแรกของการคลอดปัญหาใหญ่ของชลิตา คือ เลี้ยงลูกไม่เป็น จึงได้สมัครเข้าร่วมเครือข่ายแม่วัยรุ่นของจังหวัดสุรินทร์ เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา สอนการเลี้ยงลูกและช่วยกันแก้ปัญหาให้ชีวิต เดินไปข้างหน้า
จากประสบการณ์ ของตัวเอง ชลิตา ไม่อยากให้แม่วัยรุ่น ที่ตั้งท้องไม่พร้อมหนีปัญหา แต่อยากให้ เดินหน้าแก้ปัญหาอย่างมีสติ เพราะชีวิตยังมีโอกาสและเดินไป ข้างหน้าได้เสมอหากยอมรับมันแล้วค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละอย่าง
"ชีวิตยังมีทางเลือกนะคะ และมีโอกาสตลอดเวลา ถ้าไม่ได้เรียนตอนนี้ คลอดลูกแล้วมาเรียนกศน.ก็จบได้เหมือนกันค่ะ"
เหมือนตัวเอง แม้จะเป็นแม่วัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อม แต่ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่พร้อมจะให้อภัย และรับฟังกันทุกเรื่องทำให้พวกเขาสามารถประคับประคองกันจนเดินผ่านอุปสรรค และยังเรียนจบ การศึกษานอกโรงเรียนได้ตามที่ตั้งใจ ไว้ด้วย
เธอเรียนต่อการศึกษานอกโรงเรียนไปพร้อมกับการเปิดร้านเล็กๆ ขายก๋วยเตี๋ยว ที่มีครอบครัวของเธอพ่อแม่ และพี่สาวมาช่วยกันค้าขาย ถึงจุดเริ่มต้น ของครอบครัวจะไม่เหมือนใคร แต่ก็สามารถเดินไปข้างหน้าได้ เพราะเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่พร้อมและไม่พร้อมต่าง ก็มีปัญหาไม่แตกต่างกันเพียงแต่ต้องมีสติในการแก้ไขร่วมกันไปก็จะหาทางออกเจอ
"แม่วัยรุ่น" ถือเป็นอีก "ปมสังคม" ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันรับมือ ไม่ว่าจะเป็น
รายงานสถานการณ์เด็กและเยาวชนฉบับล่าสุดจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย หรือรายงานเด็กในสภาวะเปราะบางจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชนก็ตามต่างระบุเรื่องนี้เป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่ต้องหาทางออกโดยเร็ว
ประเทศไทยมีรายงานว่า ในปี 2547-2550 มีแม่วัยรุ่นทั่วประเทศอายุ 10-14 ปี สัดส่วนการคลอด 3.0 และค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปี 2551 เป็น 4.8 และวัยรุ่น 15-19 ปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 136.1 ต่อ การเกิดมีชีพ 1,000 คน
สถานการณ์แม่วัยรุ่น หรือ แม่ที่ท้องไม่พร้อม ไม่เพียงต้องแบกรับ ความไม่เข้าใจของครอบครัว หากยังต้องรับมือกับความพร้อมในการเลี้ยงลูก เพราะส่วนใหญ่เลี้ยงลูกไม่เป็น และด้วยความยากจนทำให้ไม่มีเงินเลี้ยงลูก ที่สำคัญ เรื่องนี้ใกล้ตัวเรามากกว่า ที่คิด
ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ในฐานะ ผู้รับผิดชอบโครงการเพื่อความเข้มแข็งของครอบครัวไทย จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ เห็นได้ชัดว่า ครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญยิ่งต่อการกำหนดวิถีชีวิตของบุคคลและความเข้มแข็งมั่นคงทางสังคม การสร้างความรักและความอบอุ่นในครอบครัวจะเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันให้สมาชิกครอบครัวปกป้องตนเองให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤต และก้าวห่าง จากภัยคุกคามในรูปของความรุนแรงต่างๆ
ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ประชาคมคนทำงานด้านครอบครัว ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสนใจร่วมกัน ในอันที่จะแสวงหาแนวทางการเสริมสร้างดุลยภาพของสถาบันครอบครัว ให้สามารถดำรงอยู่ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ตลอดจนการพัฒนาความเข้มแข็ง และความอบอุ่นให้เกิดขึ้นกับสถานการณ์ครอบครัวไทยอย่าง ยั่งยืนต่อไป ชีวิตยังมีโอกาสเสมอ หากยอมรับ และแก้ปัญหา ทีละอย่าง