สร้างแกนนำ “พระสงฆ์ไม่ทิ้งประชาชน” ลุยน้ำมอบถุงยังชีพ บรรเทาทุกข์-เป็นที่พึ่งให้สังคม

                    ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

                    ภาพประกอบจาก สสส.

                    น้ำท่วมไทยอ่วม สสส. เร่งสานพลัง ภาคีหนุน วัด 487 แห่ง เป็น “ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์” สร้างแกนนำ “พระสงฆ์ไม่ทิ้งประชาชน” ลุยน้ำมอบถุงยังชีพ บรรเทาทุกข์-เป็นที่พึ่งให้สังคม

                    สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม กล่าวว่า ช่วง 2 สัปดาห์นี้ เกิดน้ำท่วมขังหลายจังหวัดในภาคกลาง เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ มหาเถรสมาคม สานพลัง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย จัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ภายใต้โครงการพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ คัดเลือกจากวัดที่มีความพร้อมจังหวัดละ 5 วัด ปัจจุบันมีวัดเข้าร่วม 487 แห่ง โดยมีพระนักพัฒนาการสาธารณสงเคราะห์ กลุ่ม “พระสงฆ์ไม่ทิ้งประชาชน” 21 รูป พร้อมอาสาสมัคร ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ คอยดูแลผู้ที่เดือดร้อนจากอุทกภัย ผู้ป่วยติดเตียง ส่งเสริมให้วัดและพระสงฆ์มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยในช่วงวิกฤติ

                    พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ, ดร. รองเจ้าคณะอำเภออัมพวา และเจ้าอาวาสวัดอินทาราม จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า วัดอินทาราม บริจาคทรัพย์ 1 ล้านบาท เปิดศูนย์ประสานงานช่วยเหลือฯ ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. เร่งจัดตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ส่งมอบข้าวสารอาหารแห้ง ทั้งในพื้นที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ 300 ครัวเรือน อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ 350 ครัวเรือน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา 350 ครัวเรือน อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ 200 ครัวเรือน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา 200 ครัวเรือน การลงพื้นที่บริจาคเครื่องบริโภคให้กับประชาชนครั้งนี้ ถือเป็นการทำหน้าที่และภาระสำคัญของพระสงฆ์ ที่ต้องให้การสงเคราะห์เกื้อกูลแก่ประชาชน ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพกาย จิตใจ เพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์คนในสังคม

                    นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมสนับสนุนมติมหาเถรสมาคม ที่กำหนดให้วัดเป็นสถานสาธารณสงเคราะห์ของชุมชนในช่วงวิกฤติ พร้อมสนับสนุนให้พระสงฆ์เป็นแกนนำด้านสาธารณสงเคราะห์ เพื่อให้วัดและพระสงฆ์ มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผลักดันวัดให้เป็นศูนย์กลางสาธารณสงเคราะห์ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนจนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ในปี 2565 สสส. พัฒนาวัดในฐานะพื้นที่ต้นแบบที่สร้างสังคมสุขภาวะกระจายอยู่ทุกภูมิภาค มุ่งเน้นสร้างสังคมสุขภาวะที่ดีให้แก่ชุมชน 5 ประเด็น 1.สิ่งแวดล้อม งานเฝ้าระวังสาธารณภัยป่า 2.สุขภาวะ ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พัฒนาคุณภาพชีวิต 3.ระบบเศรษฐกิจวิถีพุทธ เกิดศูนย์ฝึกอาชีพความรู้พื้นฐาน 4.ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม สังฆทานต่อบุญ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันสังคมพหุวัฒนธรรม 5.พื้นที่เรียนรู้วิถีพุทธ ผ่านโครงการศึกษาพระปริยัติธรรม สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์ได้ที่เว็บไซต์ www.สาธารณสงเคราะห์.com

Shares:
QR Code :
QR Code