สร้างเสริมศักยภาพเด็กปฐมวัยด้วยนิทาน
เวทีประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการสร้างเสริมศักยภาพ พัฒนาการ และสุขภาพเด็กปฐมวัยด้วยนิทาน หนังสือ และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
เมื่อสิ้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เวทีประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการสร้างเสริมศักยภาพ พัฒนาการ และสุขภาพเด็กปฐมวัยด้วยนิทาน หนังสือ และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน โดยเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เครือข่ายพัฒนาเด็กปฐมวัย สปสช.เขต 4 สระบุรี ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ณ ห้องประชุมเฟื้องฟ้า โรงแรมริเวอร์วิว เพลส์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ในการนี้ได้รับเกียรติจาก นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รองประธานกรรมการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษในหัวข้อ "แนวทางปฏิรูประบบสุขภาพเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือและการอ่าน" นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ "สร้างเสริมศักยภาพ พัฒนาการ และสุขภาพเด็กปฐมวัยด้วยนิทานหนังสือ และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน" โดยผู้ร่วมเสวนาผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นางหนึ่งฤทัย เฟสูงเนิน ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกแพงพวย จ.ชัยภูมิ ,นางจันทร์เพ็ญ สินสอน ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน จ.สุรินทร์ ,นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. และผู้ดำเนินรายการและร่วมเสวนาโดย นางมีนา ดวงราษี มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน
สำหรับเครือข่ายที่เข้าร่วมสานพลังการอ่านเสริมสร้างสุขภาวะเด็กปฐมวัยในครั้งนี้กว่า 80 ประกอบด้วย คณะทำงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เขต 4 ได้แก่ จ.สระบุรี จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี จ.นครนายก จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ลพบุรี จ.สิงห์บุรี และ จ.อ่างทอง ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ,กศน. ,สสจ.,หน่วยบริการปฐมภูมิ ท้องถิ่น และเครือข่ายนักทักทอชุมชนจังหวัดนครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง และสุพรรณบุรี ฯลฯ
สำหรับการดำเนินงานในครั้งนี้เป็นการขยายแนวคิดจากการจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพเด็กโดยการสนับสนุนจาก สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ได้จัดอบรมครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน กศน. และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาแผนปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาวะเด็กเล็กด้วยหนังสือภาพและนิทาน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเกิดผลดีต่อเด็กเล็ก เพราะผู้ดูแลเด็กมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญ มีการร่วมมือสร้างเครือข่ายการทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมาในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2558 มีการขยายแนวคิดนี้ไปยังเขตบริการสุขภาพที่ 10 อุบลราชธานี และเขต 7 ขอนแก่น ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะมีแผนดำเนินการในพื้นที่นำร่องกว่า 60 ตำบล จาก 13 จังหวัด
ที่มา: แผนสร้างเสริมวัมนธรรมการอ่าน