สร้างเมืองต้นแบบ เด็กไร้อ้วนลงพุง
คณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมนวัตกรรมการแพทย์และสาธารณสุข ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดประชุมรับฟังข้อเสนอจากผลการศึกษาสถานการณ์โรคอ้วนลงพุงและภาวะแทรกซ้อนของประชากรในเขตกรุงเทพฯ ที่รัฐสภา เพื่อร่วมกันเตรียมแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โรคอ้วนลงพุง เป็นปัญหาสุขภาพ และเร่งหามาตรการในการแก้ไขป้องกัน เนื่องจากเป็นปัจจัย ที่นำไปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงหลอดเลือดหัวใจ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการเยียวยารักษา ซึ่งจะเป็นภาระของประเทศในอนาคต ซึ่งได้มีความพยายามหาแนวทางบูรณาการหน่วยงานที่จะเป็นต้นแบบ โดยมองเห็นกรุงเทพมหานครที่มีมาตรการในการป้องกันระดับพื้นที่จะเป็นต้นแบบนำร่องและสามารถถอดบทเรียนไปสู่การปฏิบัติให้กับเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดได้
ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาด้านการส่งเสริมสุขภาพของกรุงเทพมหานคร มีมาตรการลดปัญหาโรคอ้วนลงพุง โดยมุ่งเน้นด้านพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายเริ่มในกลุ่มเป้าหมายกับเด็กในโรงเรียนสังกัด 438 โรงเรียน ประมาณ 3 แสนคน โดยออกมาตรการเพื่อให้มีโภชนาการที่ดีถูกหลัก เช่น การจัดอาหารเช้าที่เหมาะสมให้เด็กได้รับประทาน ห้ามขายน้ำอัดลม และขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมสูงภายในโรงเรียน จัดโปรแกรมออกกำลังกายวันละ 12 นาที และมีการคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยง พร้อมจัดคลินิกลดน้ำหนักประเมินและติดตาม ด้านการออกกำลังกายได้มีการปรับปรุงสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ 30 แห่ง ให้น่าพักผ่อนเหมาะกับการออกกำลังกาย บางแห่งได้ทำเส้นทางจักรยานเพิ่มขึ้น ส่วนด้านการดูแลรักษา สถานพยาบาลในสังกัดได้ติดตามผู้รับบริการที่เข้าสู่ภาวะอ้วนอยู่บ้างแต่ยังไม่ครอบคลุมนัก
ทั้งนี้ เมื่อ กทม.เริ่มที่เด็กในโรงเรียนแล้วมั่นใจว่าจะขยายผลไปสู่ครอบครัว ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ดังนั้นในเชิงนโยบายจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ควรมีเขตนำร่องต้นแบบพื้นที่กรุงเทพฯ ทำงานในการลดโรคอ้วนลงพุง ที่ร่วมมือกัน ทั้งผู้ค้า สถานประกอบการ โรงเรียน และหน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ ต้องออกกฎเกณฑ์การปฏิบัติแล้วติดตามประเมินความสำเร็จ เมื่อระดับเขตทำได้ดีก็สามารถขยายออกเป็นโซนต่อไป
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า