สร้างเจดีย์เริ่มจาก “ฐาน” สร้างสังคมเริ่มจาก “ชุมชน”
หมอประเวศตั้งเป้า 5 ปี เข้าสู่สังคมพอเพียง
“เราสามารถสร้างสวรรค์บนดินหรือสังคมอริยะได้โดยมิยากนัก จุดเปลี่ยนสำคัญคือ การเริ่มต้นจากชุมชน เพราะชุมชนเป็นฐานรากที่สำคัญเช่นเดียวกับการสร้างพระเจดีย์ก็ต้องสร้างจากฐานจึงจะมั่นคงแข็งแรงไม่สามารถสร้างจากยอดได้ เพราะมีแต่จะพังลงเรื่อยๆ” คำกล่าวของผู้รู้แจ้งเห็นจริงอย่าง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้ชี้ให้เห็นถึงการสร้างสังคมที่เจริญอย่างอุดมปัญญาที่สามารถเปลี่ยนประเทศไทยจากที่เป็นอยู่ได้
ชุมชนที่ราษฎรอาวุโสท่านนี้ได้กล่าวไว้คงไม่ใช่ชุมชนใหญ่โตอะไรนัก แต่เป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ที่มีรากฐานสำคัญจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งหลายเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้ไทยเดินหน้าไปได้อย่างแท้จริง ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีประมาณ 8,000 แห่งทั่วประเทศ
โดยท่านได้แนะหลักการทำงานขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นว่า อย่าให้เขาอยู่โดดเดี่ยว แต่ต้องทำงานร่วมกับชุมชน แต่ชุมชนต้องเริ่มจากสำรวจหาปัญหาว่ามีอะไร สาเหตุคืออะไร และจะแก้ไขร่วมกันอย่างไร ซึ่งเรียกกันว่า แผนแม่บทชุมชน จากชุมชนเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้น สร้างเป็นตำบลที่ไม่ทอดทิ้งกัน อำเภอ จังหวัด โดยเป็งองค์กรที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์
นับเป็นครั้งแรกที่องค์กรท้องถิ่นทั้งหลายกว่า 400 แห่ง ที่มีบทเรียนในการพัฒนาด้านต่างๆ ได้มาถ่ายทอดบทเรียนประสบการณ์ การทำเรื่องดีๆ ให้ท้องถิ่นอื่นทราบและสามารถเอาเป็นตัวอย่างได้ใน “เวทีสัมมนาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)ฯลฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ในฐานะองค์กรหลักในการเกิดงานจุดประกายไฟแห่งปัญญาให้เกิดการแลกเปลี่ยนแผนแม่บทในครั้งนี้คือ สสส. คุณหมอสุภกร บัวสาย ผู้จัดการสสส. อภิบายว่า หากดูปัญหาการเมืองหรือปัญหาของบ้านเมืองทุกวันนี้มันซับซ้อน ดูการแก้ไขคงเป็นเรื่องยาก แต่ในแท้จริงแล้วพิจารณาไปยังชุมชนหน่วยย่อยที่เป็นรากฐานของสังคมภาพรวม ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ซับซ้อนเหมือนระดับชาติ ซึ่งคนในชุมชนสามารถร่วมกันหาทางแก้ไขได้ แต่หากต่างคนต่างอยู่มันก็ไม่เป็นผล
“ปัญหาระดับชุมชนท้องถิ่นส่วนใหญ่ ก็ทุกข์ยาก ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อบายมุข ยาเสพติด ฯลฯ หากรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างเช่นที่เคยทำมา อาจเป็นการนำงบประมาณกระจายไปในพื้นที่ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็แก้ไขไม่ได้ แต่ถ้าชุมชนได้เกิดกระบวนการเรียนรู้แก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ด้วยความสามัคคีในชุมชน ขยายวงออกไปให้ชุมชนอื่นได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันจะเป็นการแก้ไขได้อย่างยั่งยืน”
องค์กรท้องถิ่นที่ขณะนี้ถือว่ามีแผนแม่บทชุมชนแล้วกว่า 400 แห่ง อาทิ ที่เป็นภาคีกับสสส.อย่างโครงการปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ และที่ทำงานรณรงค์ด้านอุบัติเหตุฯลฯ รวมถึงพันธมิตรกับ สปสช.ที่ชุมชนทดลองเป็นกองทุนสุขภาพตำบลฯลฯ
ไม่เพียงแต่จะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จเป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นจุดประกายให้ชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยเพราะหากปัญหาของชุมชนตนเองไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ได้แนวความคิดจากชุมชนอื่นก็เป็นการคลี่คลายปมปัญหาได้เช่นกัน
เสียงสะท้อนที่คุณหมอสุภกรอยากฝากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า 1.อยากให้ความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาชาติ โดยอาศัยที่กฏหมายมอบอำนาจให้กับท้องถิ่น อาทิ พ.ร.บ.กระจายอำนาจ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ฯลฯ 2.ต้องมีการจัดเวทีให้เครือข่ายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน ช่วยคิดช่วยแก้ไขอย่างสม่ำเสมอ หากทำแผนแม่บทแล้วสรุปปัญหาว่ายังขาดด้านวิชาการ ขาดเครื่องมืออุปกรณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ช่วยเข้าไปเติมเต็มที่เขาต้องการ
“ที่สำคัญสังคมที่เข้มแข็งไม่ได้เกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน หรือเพียงไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือน แต่ต้องอาศัยความสมัครสมานสามัคคีในการรวมพลังกันจากหน่วยที่เป็นรากฐานอย่างชุมชนนี้เอง การประชุมในครั้งนี้เสมือนกับเป็นการเติมพลัง เพราะวันนี้ชุมชนที่เข้มแข็งอยู่แล้วไม่ได้เริ่มจากศูนย์ มีชุมชนอีกหลายร้อยแห่งที่เข้มแข็งแล้ว การมีเจ้าภาพในการประสานให้พวกเขาได้เชื่อมโยงกันจึงเป็นเรื่องที่ดี”
ให้สมกับคำที่คุณหมอประเวศได้ตั้งเป้าไว้ว่า หากชุมชนดีแล้ว ฝ่ายต่างๆ ช่วยกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใน 5 ปี เราจะสามารถตั้งต้นไปสู่การเป็นสังคมที่พอเพียงและศานติภายใน 10 ปี เราน่าจะเป็นสังคมอยู่เย็นเป็นสุข
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 26-08-51