สร้างเครือข่าย พัฒนาผู้เรียนชายแดนใต้
ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก
วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับมูลนิธิศึกษาธิการ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมสู่โรงเรียนสุขภาวะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยโครงการต้องการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาผู้เรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีสุขภาวะที่ดี ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสติปัญญา ส่งเสริมให้เกิดการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่ายโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สุขภาวะที่บูรณาการระหว่างโรงเรียน บ้าน สถาบันศาสนาและชุมชน จำนวน 15 เครือข่าย 114 โรงเรียน ณ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี
ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า การทำงานแบบเครือข่ายโรงเรียนที่มีการรวมตัวเป็นชุมชนการจัดการเรียนรู้ ร่วมมือกันเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนโดยมีโรงเรียนแม่ข่ายที่มีโรงเรียนเครือข่ายประมาณ 8-10 โรง ซึ่งรวมตัวกันด้วยความสมัครใจในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งสังกัดเดียวกัน ระดับการศึกษาเดียวกัน พื้นที่ชุมชนเดียวกัน หรือมีปรัชญา ทัศนะและความเชื่อเดียวกัน โดยยึดหลักและวิธีการตามแนวคิด 8 ร่วม ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมติดตามประเมินผลและสุดท้ายคือนวัตกรรมที่เห็นชัดคือ ร่วมชื่นชมผลสำเร็จ
“ประเด็นที่เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ของพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ นั้นมีความชัดเจน ดังนั้น การรวมตัว คิดร่วมกัน ทำร่วมกัน แก้ปัญหาร่วมกันของเครือข่าย ก่อให้เกิดความรัก สุดท้ายมีผลกระทบเกิดการต่อยอดงานร่วมกันไม่ได้แข่งขันกัน ฉะนั้น เราจะไม่ทำงานแบบโดดเดี่ยว แต่จะใช้กระบวนการเครือข่ายการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ ผู้ปกครองและชุมชน เพราะการพัฒนาเด็กหนึ่งคน ไม่ใช่เรื่องของพ่อแม่เท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายอย่างบูรณาการ
จุดเด่นของโครงการนี้ คือ ไม่มีการสั่งการ แต่เกิดจากการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาร่วมกันใน 5 เรื่องหลัก คือ 1.ด้านอาหาร โภชนาการ 2.ความตระหนักเรื่องเหล้า บุหรี่ 3.สุขภาวะทางเพศ 4.คุณธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัย ความสื่อสัตย์ การเรียนรู้ศาสนาที่จะส่งผลให้เด็กเป็นคนดีและ 5.ความเชื่อมโยงสู่คุณภาพการศึกษา สุดท้ายเด็กต้องมีร่างกายที่ดี สุขภาพอนามัยที่ดี มีจิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญาที่ดี
นายประเสริฐ แก้วเพ็ชร ประธานคณะกรรมการมูลนิธิศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการฯ ใช้การทำงานแบบ “เครือข่าย”เนื่องจากบริบทของโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบปัญหาที่ความแตกต่างกัน จนเกิดการรวมตัวของโรงเรียนที่มีปัญหาเหมือนหรือใกล้เคียงกัน เพราะบางปัญหาไม่สามารถแก้ได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องอาศัยเพื่อนร่วมพูดคุย ร่วมคิด ปรึกษาหารือ ดังนั้น เมื่อส่งเสริมการทำงานเป็นเครือข่ายโรงเรียน โดยใช้ปัญหาเป็นตัวตั้งจึงก่อให้เกิดประโยชน์ในการร่วมกันพัฒนาช่วยกันดึงขึ้นมา ซึ่งถือเป็นการสร้างกลไกในการรวมพลัง ซึ่งได้พลังที่ใหญ่ขึ้น
“สิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ชุมชนและเครือข่าย ต้องการพัฒนามากที่สุดคือ การให้ลูกเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ อ่านออก เขียนได้ มีพฤติกรรมดี ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในการจัดการศึกษาของโรงเรียน โดยได้เรียกร้องเรื่องการสอนศาสนาในโรงเรียน เพราะต้องการให้ลูกอยู่ในหลักของศาสนาอิสลามด้วย ดังนั้น ผลลัพธ์เป้าหมายของโครงการฯ คือ การช่วยยกจุดด้อยให้เกิดการพัฒนา ส่งเสริมในสิ่งที่โรงเรียนต้องการ ให้เวที โอกาสและกลไกที่ดี เพื่อเสริมศักยภาพให้เท่าเทียมกันของทุกโรงเรียน”นายประเสริฐ กล่าว
นางสาวนินูรไอนี หะยีนิเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะเยาะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการในเครือข่ายลูโบ๊ะเยาะ โดยข้อดีของการทำงานเป็นเครือข่ายคือการร่วมกันแชร์ประสบการณ์ ถ้าทำโรงเรียนเดียวก็มีบริบทแค่แห่งเดียว แต่การทำเป็นเครือข่ายจะมีจุดเด่นของแต่ละโรงเรียนที่มาทำงานร่วมกันได้เห็นปัญหาบางอย่างที่เป็นจุดต่างเราก็มาประสานการทำงานร่วมกันได้ อีกทั้ง ยังได้ความยั่งยืน ได้ความร่วมมือเพิ่ม โดย 3 ปีที่เข้าร่วมประสบความสำเร็จมากในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เพราะทุกวันนี้การดำรงชีวิตประจำวันเด็ก คนในชุมชน ศาสนาไปทางคนไปทาง การดำเนินการตามเป้าหมายและแนวทางใน 5 เรื่องนี้ เชื่อมโยงได้กับทุกเรื่องและสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาการโดยเฉพาะเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ทุกศาสนาดีหมดแต่การประพฤติตัวของคนและลักษณะนิสัยทำให้ศาสนาเสียไป
“อยากให้ส่วนกลางเป็นกระบอกเสียง ในสภาวการณ์ของสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยจุดที่ควรพัฒนามากที่สุด ขณะนี้ คือเด็กมีปัญหาเรื่องภาวะทุพโภชนาการ ขาดสารอาหาร ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ปกครองไปกรีดยางตั้งแต่ตีสาม กว่าจะกลับมาก็สายๆ เด็กก็ไม่ได้ทานอาหารเช้า บางคนเกิดจากกรรมพันธุ์และเด็กบางคนขาดจิตสำนึกไม่ตระหนักว่าอาหารเช้ามีความสำคัญ เมื่อเข้าโครงการนี้ เด็กก็เข้าใจมากขึ้นว่าต้องทานอาหารเช้าและเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ทั้งนี้ โครงการมีเป้าหมาย แต่ไม่ได้บังคับให้เราทำหนึ่ง สอง สาม แต่เป็นการให้โรงเรียนทำตามบริบทของตนเองและชุมชนที่ต้องการ” เครือข่ายลูโบ๊ะเยาะกล่าว