สร้างอาสาสมัครอาชีวอนามัย

ชี้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ

 สร้างอาสาสมัครอาชีวอนามัย

          สถานีอนามัย เป็นปราการด่านแรกของการรับรักษาพยาบาลเบื้องต้นให้กับประชากรในท้องถิ่น ข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในทุกที่ทุกแห่งหนจะอยู่ในลักษณะ “งานล้นมือ” จำนวนเจ้าหน้าที่ 2-3 คน ในสถานีอนามัยต้องดูแลสาธารณสุขขั้นพื้นฐานรับมือกับการบริการตั้งแต่ระดับห้าสิบถึงร้อยหลังคาเรือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับขนาดความใหญ่ของพื้นที่หรือความหนาแน่นของผู้คนในตำบลนั้นๆ การให้บริการเชิงรุก ในการเดินตรวจเยี่ยมสุขภาพตามบ้านจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก จากการสำรวจบางอาชีพในชุมชนมีความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีในการฉีดพ่นพืชผักทางเกษตร, ฝุ่นจากใยของเส้นด้ายที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจจากงานตัดเย็บเสื้อผ้า, อุบัติเหตุจากเครื่องจักร ฯลฯ ความเสี่ยงจากการทำงานเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัยที่ก่อให้เกิดโรคที่ทำลายสุขภาพในวันข้างหน้า จึงจำเป็นที่ต้องสร้างกลไกเฝ้าระวังความปลอดภัย ให้แรงงานมีความรู้และระมัดระวังตนเองให้ปลอดภัยจากการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคจากอาชีพกลุ่มงานวิจัยและพัฒนาวิชาการ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบจึงได้คิดค้นการจัดการด้านบริการสาธารณสุข รับสมัคร “อาสาสมัครอาชีวอนามัย (อสอช.)” เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและกลุ่มแรงงานนอกระบบในอาชีพต่างๆ ในการเป็นแกนนำในการดูแลความปลอดภัยและส่งเสริมความรู้ให้กับพี่น้องแรงงาน

 

          อาสามัครอาชีวอนามัย วันนี้ทำอะไร

 

          อ.นวลจันทร์ โพทา ที่ปรึกษาแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ให้ความเห็นเกี่ยวกับ อาสาสมัครอาชีวอนามัยว่า อสอช. จะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในกลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยในชุมชน เป็นการสร้างระบบการป้องกันเมื่อมีความเสี่ยงจากการทำงาน คือการบอกว่าเกิดอะไรขึ้น ใครควรทำอะไร ทำอย่างไร เมื่อเกิดปัญหายกตัวอย่างเช่น ผู้ที่เป็นแรงงานเมื่อเกิดอาการผื่นคัน หายใจไม่ออกเป็นจำนวนมาก ต้องบอกกับ อสอช. แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ อบต. ส่งต่อโรงพยาบาลอำเภอและจังหวัด ส่งข้อมูลเข้ากระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

 

          ขณะนี้ อสอช. ได้ผ่านการอบรมจำนวน 272 คน ในหลักสูตรที่เตียมความเข้าใจเบื้องต้น ผู้ดูแลโครงการนพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ หัวหน้าโครงการการจัดบริการอาชีวอนามัยในหน่วยบริการสาธารณสุขสำหรับแรงงานนอกระบบและหัวหน้างานกลุ่มวิจัยและพัฒนาวิชาการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าความสำคัญของงานอาชีวอนามัยในแรงงานนอกระบบ ต้องให้คนในกลุ่มอาชีพเป็นอาสาสมัครเป็นแกนนำที่จะขยายผลในการประสานงานติดต่อกับท้องถิ่นถ้ามีคุณสมบัติของการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในชุมชนด้วยจะทำให้การทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น

 

          บทบาทหลัก อสอช. ต้องช่วยประเมินความเสี่ยงแบบง่ายๆ คอยประเมิน ติดตาม แรงงานอย่างใกล้ชิดเปรียบเสมือนเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) ของแรงงานในระบบ ที่จะให้คำแนะนำ เฝ่าระวังในการทำงาน ถ้ามีการรวมตัวของ อสอช. อย่างเข้มแข็ง จะสามารถพัฒนาการวางแผนร่วมกับองค์กรท้องถิ่นในการจัดงบประมาณเพื่อดูแลสุขภาพของแรงงานในชุมชนได้ ซึ่งหลักสูตรการอบรมจะให้ อสอช.รู้จักบทบาท, รู้หลักการปรับปรุงสภาพ แวดล้อมในการทำงานที่มีผลต่อกลุ่มอาชีพ. ทักษะการจัดการความเสี่ยง และทักษะในการจัดทำแผนเพื่อวางแผนงบประมาณ ในเบื้องต้นคุณหมอยอมรับว่า อสอช.เป็นเพียงก้าวแรกที่จะต้องมีการพัฒนาความรู้ความสามารถเพิ่มศักยภาพในการเสริมให้ อสอช. มีบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้นในท้องถิ่น ลงมือทำงานได้จริงกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยมีแนวทางปฏิบัติและมีสื่อที่ขยายความเข้าใจให้กับคนอื่นอย่างชัดเจน ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนมากขึ้น

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

 

 

Update : 21-08-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code