สร้างอาชีพจาก “กล้วย” ในท้องถิ่น
เชื่อแน่ว่า ใครๆ ก็รู้จัก "กล้วย" เพราะถือ เป็นพืชท้องถิ่นที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปในทุกพื้นที่ของไทย ทั้งปลูกง่าย ขยายพันธุ์เร็ว แถมยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนตั้งแต่ดอก ผล ใบ กาบ เหง้า ยิ่งถ้านำมาต่อยอด ทั้งการผสานภูมิปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ เข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยแล้ว เ รื่องกล้วยๆ ก็สามารถพัฒนาสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพได้อีกด้วย
ตัวอย่างเช่นจากกิจกรรมบูรณาการ โครงงานสาระท้องถิ่น "กล้วย…พืชล้ำค่าคู่บ้านเขายายกะตา" เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งทำให้เด็กๆ ใน "โรงเรียนบ้านเขายายกะตา" อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ได้เรียนเรียนรู้เรื่องราวของ "กล้วย" ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การปลูก ดูแล และนำมาแปรรูป เพิ่มมูลค่า ทั้งการทำกล้วยตาก ทำปุ๋ย ห่อของ ฯลฯ ที่สามารถช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับน้องๆ นักเรียนชั้น ม.3 ได้เป็นจำนวนมาก
ผลสำเร็จดังกล่าวถือเป็นแรงบันดาลใจ ให้คณะครูเกิดความคิดที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะชีวิต จนถึงสร้างอาชีพจากกล้วยให้กับนักเรียนมากขึ้น โดยจัดทำ "โครงการสร้างอาชีพจากวัสดุในท้องถิ่น" ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) ภายใต้ "โครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ" เพื่อพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากกล้วยกอเดิม เพื่อสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพได้อย่างอย่างยั่งยืน
ทักษพร วงศ์เครือ ครูผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการตอบโจทย์และแก้ปัญหาของโรงเรียนได้โดยตรง เพราะเด็กที่นี่โอกาสเรียนต่อค่อนข้างน้อย อย่างมากก็ไปเรียนต่อทางสายวิชาชีพ ที่ผ่านมา เราพบว่า นักเรียนร้อยละ 40 เมื่อเรียนจบ ม.3 จะต้องออกไปทำงานเลย ดังนั้นทักษะในเรื่องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการรู้จัก นำสิ่งของรอบตัว หรือนำผลผลิตจากทรัพยากรท้องถิ่นที่ไม่ต้องลงทุนมากมาประยุกต์ใช้สร้างรายได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
"ครูและนักเรียนก็เป็นคนพื้นที่จึงเข้าใจธรรมชาติของที่นี่ดี เราจึงพยายามให้ความสำคัญเรื่องของการคิดมากกว่าการทำเลียนแบบ โดยต่อยอดแนวคิดจากโครงการแรกที่สอนเรื่องการปลูกและนำกล้วยมาแปรรูปเป็นของสดทำเป็นภาชนะ ทำบายศรี หรือทำเป็นอาหารต่างๆ แต่ด้วยความเป็นของสดจึงทำให้ผลิตภัณฑ์เก็บได้ไม่นาน พอมาถึงโครงการนี้จึงเน้นไปที่การสร้างอาชีพแปรรูปของสดให้เป็นของแห้งที่ไม่เพียงแต่จะสามารถยืดอายุในการเก็บได้นานมากขึ้น แต่ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้อีกด้วย" ครูทักษพร ระบุ โครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกเรียนรู้จาก 4 กิจกรรมที่สนใจ ได้แก่ "อาหารแปรรูปจากกล้วย" ที่นำกล้วยตากที่ได้จากโครงการแรกมาพัฒนามาเป็น คุ้กกี้กล้วยตาก โดยมีเจ้าของร้านเบเกอรี่ใน จ.ลพบุรีมาเป็นวิทยากรสอนให้กับเด็กนักเรียน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม "การสานตะกร้าด้วยเชือกกล้วย" โดยชาวบ้านในท้องถิ่นนำภูมิปัญญาสานตะกร้าด้วยเชือกเทียนนำมาประยุกต์สอนการสานด้วยเชือกกล้วยให้กับเด็กๆ แทน
รวมไปถึงกิจกรรมงานช่างที่ชาวบ้านมาช่วยกันสอนให้เด็กได้รู้จักนำวัสดุท้องถิ่นอย่างกะลามะพร้าวที่หาได้ทั่วไปมาสร้างสรรค์กลายเป็น "โคมไฟกะลา" ซึ่งเป็นสินค้าขายดีของโรงเรียน และการทำ "สมุดบันทึกจากกระดาษใยกล้วย" ที่เด็กๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก "การทำกระดาษจากใยกล้วยนั้นเป็นเรื่องใหม่ และค่อนข้างยาก เราต้องศึกษาข้อมูลจากหลายแหล่งรวมทั้งจากอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ต่างๆ ต้องลองผิดลองถูกหลายครั้งจนสำเร็จ โดยการนำกาบกล้วย จากลำต้นมาต้ม แล้วนำมาปั่นเอาเส้นใย จากนั้นจึงเอามาย้อมสี และทำเป็นแผ่นกระดาษ ก่อนจะพัฒนามาทำเป็นสมุดบันทึกสีสวย หรือกล่องใส่ทิชชู" ครูทักษพร เล่าถึงขั้นตอนต่างๆ ในการทำงาน
ด้านครูผู้ช่วยอย่าง จุฑาทิพย์ พิศาภาค ครูผู้ช่วยกล่าวถึงความสามารถของเด็กๆ ในการทำงานว่า พวกเขาทำได้ดีกว่าที่คิด เพียงปีเดียวเด็กก็สามารถลงมือทำและพัฒนาต่อได้ดีมาก สามารถแก้ปัญหาในเรื่องกระดาษแผ่นหนาไม่เรียบขรุขระได้ด้วยการปั่นเยื่อกาบกล้วยให้ละเอียดมากขึ้น และยังผสมสีใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเอง เพราะพวกเขาจะรู้ดีกว่าครูว่า สีไหนขายได้ สีไหนวัยรุ่นชอบ
"นอกจากกระบวนการผลิตแล้ว นักเรียนจะต้องเรียนรู้เรื่องการขาย และการบริหารงานบริหารเงิน โดยครูจะพากลุ่มนักเรียนไปฝึกประสบการณ์จริงที่ตลาดนัด และกลับมาเช็คสต็อคทำบัญชีสินค้า เราโชคดีที่เจ้าของตลาดนัดในตัวอำเภอลำนารายณ์ให้การสนับสนุนเด็กๆ โดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่ อาทิตย์แรกเด็กก็เขินขายของไมได้เลย แต่เขาก็ค่อยๆ เรียนรู้จากสิ่งรอบๆ ข้าง เช่น เห็นแม่ค้าติดป้ายราคาเขาก็ทำบ้าง เริ่มหัดส่งเสียงเรียกลูกค้า เริ่มรู้ว่าต้องเรียงของวางโชว์อย่างไร เด็กๆ มีทักษะการทำงานดีขึ้น รู้หน้าที่ กล้าแสดงออก ขยันขันแข็ง สนุกกับการทำงานโดยไม่ต้องต้องเคี่ยวเข็ญ มีน้ำใจ และรู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า" ครูจุฑาทิพย์เอ่ย
ส่วนความเห็นจากเด็กๆ อย่าง "น้องนุ่น" ด.ญ.วาสนา พูลหนองกุง นักเรียนชั้น ม. 2 เล่าประสบการณ์การทำกระดาษและสมุด ใยกล้วยว่า ตอนแรกทำไม่เป็น แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็ชำนาญ เป็นกิจกรรมที่สนุกไม่เบื่อเลย
"พวกเราชอบคิดสีใหม่ๆ ขึ้น ตอนแรกคิดว่าแค่ทำโชว์ครูเฉยๆ พอรู้ว่า ต้องไปขายที่ตลาดเองด้วยก็ตื่นเต้น เพราะไม่เคยขายของมาก่อน แต่ไม่อายเพราะเป็นของที่เราทำเองจากมือ เงินที่ได้ก็เอามาซื้อเป็นวัสดุมาทำงานต่อ ชอบทั้งลงมือทำและขายเพราะเห็นทั้งกระบวนการสามารถเอามาทำเป็นอาชีพได้"
ขณะที่ "น้องมุก"ด.ญ.ธนพร นาบุญนักเรียนชั้นม.3 ซึ่งเลือกทำคุ้กกี้ เพราะดูน่าสนุก และมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก รวมถึงมองเห็นโอกาสสร้างรายได้เสริมให้กับตัวเองด้วย และเมื่อได้ทดลองทำ น้องมุกก็เริ่มคิดดัดแปลงจากคุ้กกี้ธรรมดาให้เป็นคุ้กกี้กล้วยตาก โดยนำกล้วยตากที่ทำกันเองมาใช้ด้วย
"ตอนไปขายใหม่ๆ ก็อายที่ต้องตะโกนเรียกลูกค้า แต่ตอนนี้ไม่อายแล้ว ตอนเทศกาลต่างๆ จะมีคนมาสั่งให้ทำเยอะมาก อยากให้มีโครงการนี้ต่อๆ ไป และคิดว่าถ้าเรียนจบแล้วมีเวลาว่างจะกลับมาสอนน้องๆ ด้วย"
งานนี้ นอกจากเด็กๆ จะได้ฝึกทักษะอาชีพ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องความเป็นเกษตรกร งานฝีมือด้านศิลปะ ด้านอาหาร หรือการค้าขายแล้ว พวกเขายังได้เรียนรู้ในเรื่องการดำเนินชีวิต ฝึกความรับผิดชอบและการทำงานร่วมกัน ขณะเดียวกันก็ยังได้เห็นคุณค่าของเงิน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต