สร้างสุข ทุกพื้นที่ปลอดภัย เพื่อผู้สูงวัยและครอบครัว

เรื่องโดย  อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก งานวันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันครอบครัว ประจำปี 2566

ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    ประเทศไทยเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ เรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ตามหลักเกณฑ์ของประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

                    ปัจจุบันมีอัตราการเกิดใหม่น้อยลง ในขณะที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องมีความห่วงใย หากไม่มีการจัดวางแผนหรือเตรียมความพร้อมทุกวิถีทางยกระดับคุณภาพชีวิตมั่นคงและปลอดภัยที่ดี อาจกลายเป็นปัญหาตามมาได้

                    ล่าสุดสิ้นเดือนมีนาคม 2566 จากฐานข้อมูลประชากรของกรมการปกครอง พบข้อมูลน่าสนใจ คือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2565 เพิ่มขึ้นประมาณ 7 พันคน จากจำนวน 29,935 คน เป็นชาย 14,604 คน หญิง 15,331 คน

                    จากข้อมูลตัวเลขอายุคนไทย ที่กรมกิจการผู้สูงอายุได้บันทึกสถิติ เมื่อสิ้นปี 2565 มีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 12,698,362 คน หรือคิดเป็นจำนวน 19.21% ของประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน ในจำนวนผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคนนี้ เป็นชาย 5,622,074 คน และหญิง 7,076,288 คน โดยกลุ่มที่มากที่สุดประมาณครึ่งหนึ่งคือกลุ่มอายุ 60-69 ปี

                    จากข้อมูลดังกล่าว นำมาสู่การจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันครอบครัว ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “สร้างสุข ทุกพื้นที่ปลอดภัย เพื่อผู้สูงวัยและครอบครัว” ที่มุ่งเน้นให้สังคมร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยสำหรับผู้สูงวัยและครอบครัว โดยเริ่มต้นที่บ้าน สถานศึกษา สถานที่ทำงาน และพื้นที่สาธารณะ เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้เกิดขึ้นในสังคม

                    ขณะเดียวกัน นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ในวันผู้สูงอายุแห่งชาติปีนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับรางวัล จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบโล่ประกาศเกียรติ  ในฐานะองค์กรผู้สนับสนุนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ และเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม ซึ่งรางวัลดังกล่าว ถือเป็นการเสริมพลังใจและความภาคภูมิใจอย่างยิ่งให้กับชาว สสส.และภาคีเครือข่าย ทั่วหน้า

                    เนื่องจาก สสส.ได้พยายามเดินหน้าขับเคลื่อน และผลักดันนโยบายงานด้านผู้สูงอายุมาโดยตลอด เพื่อให้กลุ่มประชากรมีคุณภาพที่ดีในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องหลักประกันรายได้ การศึกษา สุขภาพ หรือการดูแลตนเองเบื้องต้น

                    นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เล่าว่า ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนสร้างเสริมและพัฒนาเพื่อสร้างสุข เพื่อผู้สูงวัยและครอบครัว หลายด้านด้วยกัน  ทั้งการพัฒนาชุดความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ  การพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบาย และการส่งเสริมกลไกความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้สูงอายุ

                    อีกทั้งมีการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ 4 มิติ ประกอบด้วย

                    1. มิติทางสุขภาพ ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เสริมสร้างความเข้มแข็งกล้ามเนื้อ  ฝึกทักษะสมอง และส่งเสริมด้านทันตกรรม ผ่านโครงการ 80 ปี ฟันดี 20 ซี่

                    2. มิติทางเศรษฐกิจ สนับสนุนข้อมูลวิชาการ งานวิจัย พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐ เรื่องการขยายอายุและโอกาสการทำงานในระบบของผู้สูงอายุ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน สถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                    3. มิติทางสังคม พัฒนาชมรมผู้สูงอายุต้นแบบกว่า 260 แห่ง ส่งเสริมโรงเรียนและหลักสูตรการเรียนรู้ผู้สูงอายุ พัฒนานวัตกรรมธนาคารเวลา สร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกันในชุมชนท้องถิ่น เขตเมือง และ องค์กร และ

                    4. มิติสภาพแวดล้อม สร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุในที่พักอาศัยและสถานที่สาธารณะ ตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design : UD) 12 ศูนย์ในมหาวิทยาลัย

                    ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เพราะมีภาคีของสสส.เข้ามามีส่วนร่วมทำงาน การพัฒนาชุดความรู้ต่อการสร้างเสริมด้านสุขภาพ และสนับสนุนพัฒนากิจกรรมที่สอดคล้อง ตอบโจทย์ให้กับผู้สูงอายุ เช่น กิจกรรม Young Happy โรงเรียนผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพเบื้องต้น วิธีใช้สมาร์ทโฟน การส่งเสริมอาชีพตามความถนัดและความสนใจ

                    รวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบายผลักดันเรื่องเบี้ยยังชีพ ระบบบำนาญ หลักประกันคุ้มครองผู้สูงวัย และการส่งเสริมกลไกความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้สูงอายุ เป็นนโยบายระดับชาติอีกด้วย

                    “…เพราะทุกคน คือ ผู้สูงอายุในอนาคต” หากได้รับความรู้และมีการเตรียมตัวให้พร้อมที่ดี ย่อมสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในแบบที่ตนเองต้องการได้ โดยไม่เป็นภาระของครอบครัว…” นางภรณี กล่าวทิ้งท้าย

                    สสส. และภาคีเครือข่ายให้ความสำคัญเพื่อสร้างสุขกับผู้สูงอายุในทุกมิติ เพื่อประชากรสูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและความปลอดภัยสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข

Shares:
QR Code :
QR Code