สร้างสุขให้พนักงานยุค4.0 องค์กรต้องปรับตัวอย่างไร

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 


สร้างสุขให้พนักงานยุค4.0 องค์กรต้องปรับตัวอย่างไร thaihealth


แฟ้มภาพ


สัปดาห์นี้มาติดตามเทรนด์สร้างสุขในองค์กรของประเทศไทย กับ นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ซึ่งคุณหมอ ได้ให้มุมมองเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียวและถือเป็นเรื่องท้าทายขององค์กรที่จะต้องหาทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้น


โดยเฉพาะปัจจุบันมีสัดส่วนคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความคิด วิถีชีวิต มีการใช้เทคโนโลยี ที่แตกต่างจาก คนรุ่นก่อนๆ อย่างสิ้นเชิง ในองค์กรมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ขององค์กรว่าจะมีการปรับตัว เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มนี้ได้อย่างไร เพื่อหาทางใช้ศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์มากมาย ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดและสามารถเป็นพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด


ในการสัมภาษณ์เมื่อเร็วๆนี้ ในรายการลับคมธุรกิจ คุณหมอชาญวิทย์ ได้ฉายภาพเรื่องความสุขในองค์กร นับจากนี้ไปว่า จะยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เรื่องชีวิตกับงานนั้นก็ตอบยากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน


"บริษัทอาจจะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่คนอยากมาทำงานมากที่สุด แต่จะใช่ บริษัทที่คนทำงานอยู่ด้วยยาวนานหรือเปล่า วันนี้หลายแห่งเจอเรื่องคนลาออกมากขึ้นๆ บริษัทจะจัดการอย่างไร จะออกแบบองค์กรอย่างไร ให้เข้ากับวิถีชีวิตกับคนรุ่นใหม่ เพื่อรักษาคนเหล่านั้นให้มีความภักดีกับองค์กร จริงๆ แล้วเราต้องการคนแบบไหน งานแบบไหนที่เหมาะกับคนเหล่านั้น เพราะหากเราสามารถออกแบบงานให้ตรงกับความต้องการ ตรงกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ได้ เราจะพบว่า เราจะได้ Productivity จากของเขามากมายเลย วันนี้บริษัท จะทำอย่างไรหากพนักงานบอกว่า เขาอยากจะมาทำงานสิบเอ็ดโมง เลิกห้าทุ่ม มากกว่า เขามีไอเดียใหม่ๆ ตอนตีสอง หลังจากไปเที่ยวมาแล้ว บริษัทจะจัดการอย่างไร"


คุณหมอชาญวิทย์ยังบอกว่า "วันนี้องค์กรต่างๆ เจอปัญหาเหมือนกันหมดคือ เรื่องคน จะเราเปลี่ยนมุมมอง หรือ Mindset ของคนได้อย่างไร เพราะปัจจุบัน เราจะจ้างคนมา เพื่อให้เขามาทำงานให้อย่างเดียวไม่ได้แล้ว บริษัทจะมีวิธีดูแลและรักษาคนทำงานนั้นได้อย่างไร เพราะสวัสดิการ เงินเดือน อาจจะไม่ใช่คำตอบที่เพียงพอแล้ว มันอาจไม่ใช่สิ่งที่ยึดเขาไว้ได้เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว อันนี้เป็น ความท้าทาย


นอกจากนี้ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการเพียงมีส่วนร่วมในการทำงานเท่านั้น เขาอยากมีส่วนร่วมในการคิดด้วย ซึ่งเรามักได้ยินคำพูดว่า พี่ไม่ฟังสิ่งที่ผมคิดเลย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นและท้าทายมากๆและเป็นเรื่องใหม่ที่องค์กรต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ" สำหรับรูปธรรมในการสร้างองค์กรแห่งความสุข ยุค 4.0 สิ่งที่ คุณหมอชาญวิทย์ บอกนั้นน่าคิดทีเดียว "องค์กรจะต้องจัดบรรยากาศและความสัมพันธ์ใหม่ เพื่อให้คนในองค์กรทำงานร่วมกัน และช่วยกันนำพา องค์กรให้อยู่รอดได้ ซึ่งองค์กรจะต้องตระหนักว่า ในบริษัทมีลูกค้าอยู่ สองกลุ่ม คือ ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเรา และลูกค้าภายในองค์กร นั่นก็คือ ผู้บริหาร พนักงาน ที่ก็ต้องการการสร้างสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องเหมือนกับลูกค้าของบริษัทที่มีส่วน CRM"


ส่วนแนวทางในการสร้างสุขในองค์กรยุค 4.0 คุณหมอชาญวิทย์ระบุว่า จะต้องหันมาดูและให้ความสำคัญใน 4 เรื่องนี้ให้มากๆ คือ สุขภาพกาย สุขภาพใจ บรรยากาศในการทำงาน หรือสังคม และทัศนคติในการทำงาน


"ด้านร่างกาย แนวโน้มเรื่องการดูแลสุขภาพของคนในองค์กรจะมีมากขึ้น เพราะว่าปัจจุบันคนอายุน้อยๆ ก็เริ่มมีปัญหาสุขภาพแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน สองเรื่องจิตใจ เรื่องความเครียดในที่ทำงาน ซึ่งยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นแน่นอน องค์กรจะมีการปรับ มีการออกแบบโปรแกรมเพื่อช่วยให้พนักงานไม่เครียด หรือเครียดน้อยลงได้อย่างไร ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลก็คือ การทำให้พนักงานมีสติMindfulness และด้าน เจตคติของคน ซึ่งพบว่าทัศนคติของคน รุ่นใหม่นั้นไม่ได้แย่เลย แต่องค์กรจะต้องทำความเข้าใจ และก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง"


ถามว่า แล้วการทำงานส่งเสริมการสร้างสุขภาวะในองค์กร ของสสส. ต้องปรับตัวอย่างไร คุณหมอชาญวิทย์เล่าว่า ต้องปรับตัวมากเหมือนกัน เพื่อที่จะนำความรู้ที่ได้จากการทำงานมาต่อเนื่องนับสิบปีมาจัดการถ่ายทอดความรู้นั้น ให้องค์กรต่างๆ สามารถนำไปใช้ ได้ตรงจุด ตรงกลุ่มไม่ว่าจะเป็นการวัดผลคุณค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการที่ คนในองค์กรมีความสุขมากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้องค์กรในการเพิ่มพูน ทักษะการจัดการทางการเงินให้พนักงาน การสร้างสติในการทำงานและในการใช้ชีวิตให้พนักงาน ฯลฯ

Shares:
QR Code :
QR Code