สร้างสุขภาวะที่ดี ลดโรคระบาดในโรงเรียน
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
สุขลักษณะของนักเรียนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะช่วงนี้มีปัญหามลพิษขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM2.5 และเรื่องโรคระบาดไวรัสโคโรนา ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ประชาสัมพันธ์เรื่องสุขลักษณะกับนักเรียนและผู้ปกครองมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่มีปัญหาฝุ่น หรือโรคระบาดเท่านั้น เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ โดยเฉพาะเรื่องกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ที่คนบางส่วนมองว่าเป็นเรื่องตลก แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ทางแพทย์ต้องการให้ ศธ.ให้ความรู้กับนักเรียน และให้นักเรียนไปเผยแพร่ต่อ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า โรงเรียนต้องดูแลนักเรียนเป็นพิเศษ เช่น สอนให้นักเรียนล้างมือให้สะอาดเสมอ เพราะโรงเรียนถือเป็นสถานที่เสี่ยงในการแพร่โรคต่างๆ ถ้าโรงเรียนดูแลนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ท้ายสุดนักเรียนจะเกิดความเคยชิน และรักษาสุขอนามัยของตนเองอยู่ตลอด ส่วนปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่กำลังประสบอยู่ขณะนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องติดตาม และหาแนวทางแก้ไขปัญหา แต่ยอมรับว่าต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ การใช้หน้ากากอนามัยในปัจจุบันถือเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ต่อไปอาจต้องหามาตรการในการลดฝุ่น เช่น ลดปริมาณฝุ่นจากการบริหารจัดการรถสาธารณะ และการควบคุมพื้นที่ก่อสร้าง เป็นต้น หวังว่าในระยะเวลา 3-5 ปี ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันจะสามารถบริหารจัดการปัญหาฝุ่นในทุกจังหวัดที่มีปัญหาได้
"ศธ.พร้อมเป็นหลักในการให้ความรู้ความเข้าใจ กับนักเรียน ผู้ปกครอง และครู หวังว่าการขับเคลื่อนของรัฐบาลและ ศธ.จะทำให้สร้างวินัยเรื่องต่างๆ แก่นักเรียนได้ ทั้งนี้ผมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำชับให้โรงเรียนสร้างสุขอนามัยให้นักเรียนแล้ว เพราะจากที่ผมลงพื้นที่พบว่าบางโรงเรียนไม่มีงบประมาณในการซื้อช้อนกลาง ทำให้นักเรียนใช้นิ้วมือเกลี่ยอาหาร ในขณะที่ ศธ.ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนซื้อช้อนส้อมได้ ระหว่างนี้โรงเรียนต้องสร้างความเข้าใจให้นักเรียนด้วย ซึ่งหลายโรงเรียนแก้ไขปัญหาโดยให้นักเรียนนำช้อนส้อมจากบ้านมาใช้ เรื่องเหล่านี้เหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่หากสร้างได้ จะทำให้ปัญหาการติดโรคต่างๆ ลดน้อยลง" นายณัฏฐพลกล่าว
นายณัฏฐพลกล่าวต่อว่า ส่วนความรุนแรงในโรงเรียนนั้น อยากให้ครูอยู่กับนักเรียนมากขึ้น เพื่อสอดส่องพฤติกรรมเด็ก เช่น เด็กมีพฤติกรรมอย่างไร เล่นกับเพื่อนรุนแรงหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งการที่ครูจะมีเวลาอยู่กับนักเรียนเพิ่มขึ้นได้ จะต้องลดภาระต่างๆ ของครูด้วย ขณะนี้ตนหาทางลดภาระครูอยู่ หวังว่าเมื่อนักเรียนทุกคนเข้ามาเรียน โรงเรียนจะสามารถตีโจทย์หรือปัญหาของนักเรียนได้ และหาทางส่งเสริมช่วยเหลือ และพัฒนาต่อไป