สร้างสุขภาพเด็กปฐมวัยด้วยการอ่าน
สปสช. ภาคประชาสังคมตอกย้ำความสำคัญ สร้างสุขภาพเด็กปฐมวัยด้วยการอ่าน หนุน สปสช. ภาคอีสาน คาดหวังปูพรมทั่วประเทศ
จากสถานการณ์ที่พบว่าระดับไอคิว-อีคิว เด็กในภาคอีสานยังคงต่ำกว่าภาคอื่นๆ เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน จังหวัดสุรินทร์ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเด็ก จึงได้ร่วมกันใช้หนังสือและการอ่านเป็นเครื่องมือสร้างเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย
คุณมีนา ดวงราษี ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน หนึ่งในคณะทำงานสำคัญในการขับเคลื่อนงาน ได้เล่าถึงแนวคิดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกับ สปสช. ว่า “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นจาก พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2545 ที่มีเจตนารมณ์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพ ซึ่งแต่เดิมเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของสาธารณสุขหรือทางการแพทย์เท่านั้น ประเทศไทยมีโอกาสดีที่สุดที่มีหลักประกันสุขภาพ เรียกได้ว่าเป็นรัฐสวัสดิการตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แต่เป็นเพียงการสงเคราะห์ แต่นั่นหมายถึงการเป็น “สิทธิ” ที่ประชาชนควรได้รับ ดังนั้น การจัดการสุขภาพของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกช่วงวัย ถือได้ว่าเป็นสิทธิของประชาชนโดยแท้จริง”
“สปสช. มีโครงสร้างการทำงานแบบมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับชาติ ระดับตำบลคือกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ และระดับเขตมีอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพ รวมถึงคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพบริการสาธารณสุข เช่นเดียวกับระดับชาติ ซึ่งประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการและออกแบบนโยบายแผนงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์สุขภาพของพื้นที่ได้ โดย สปสช. มีเจตนารมณ์ที่ให้ประชาชนร่วมจัดการสุขภาพ จึงจัดให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีครบทุกตำบลแล้ว มีระเบียบการใช้จ่ายที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและหลักการสนับสนุนให้ประชาชน 5 กลุ่มเป้าหมาย ได้เข้าถึงบริการสาธารณสุข ซึ่ง 1ใน 5 กลุ่มเป้าหมายนี้มีเรื่องของ “เด็กปฐมวัย”รวมอยู่ด้วย ดังนั้นกองทุนนี้คือความยั่งยืนที่ประชาชนในตำบลจะได้ใช้ประโยชน์และดำเนินงานเรื่องการส่งเสริมการอ่านเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย หากคนในชุมชนมีแนวคิดให้ความสำคัญเรื่องการอ่านเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยแล้ว พื้นที่นั้นก็สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการได้ดำเนินงานร่วมกับ สปสช. ทำให้มองเห็นโอกาสดีในการเสริมสร้างสุขภาพเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์”
คุณมีนา กล่าวต่อว่า “คณะทำงานได้ทดลองนำร่องพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 9 นครราชสีมา ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาวะเด็กเล็ก 0-6 ปี เป็นโครงการระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับเขต ซึ่งได้ขอการสนับสนุนจาก สปสช. เขต 9 ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการขยายแนวคิดนี้ไปยังเขตบริการสุขภาพที่ 10 อุบลราชธานี ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ มุกดาหาร อุบลราชธานี และยโสธร และในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เริ่มในเขตบริการสุขภาพที่ 7 ขอนแก่น ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีเช่นกัน
สำหรับการดำเนินงานในแต่ละเขตพื้นที่มีส่วนที่คล้ายคลึงกันคือ การมีกระบวนการสร้างพลังของแนวคิด มีการใช้ข้อมูลชุดความรู้เรื่องการอ่านสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กปฐมวัย กระบวนการประสานพลังของเครือข่ายให้งานสำเร็จ มีการเชื่อมโยงการอ่านกับงานสาธารณสุข การศึกษา วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของชุมชน ซึ่งประเด็นการอ่านเพื่อสุขภาพเป็นประเด็นที่ทุกเขตพื้นที่ให้ความสำคัญและร่วมมือกันในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด รวมถึงการมีกลไกภาคประชาชนที่เป็นตัวกลางในการประสานทุกภาคีให้เกิดความร่วมมือ และมีแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนโดยการระดมทรัพยากรจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับเขตเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนโครงการระดับพื้นที่
ส่วนความแตกต่างของการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มเขตพื้นที่ที่พบคือ บริบทการทำงานของพื้นที่ และความเข้มแข็งของเครือข่ายที่จะผลักดันให้เกิดก่อนหรือหลัง เช่น บางพื้นที่ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรูปธรรมการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อน บางพื้นที่ศูนย์ประสานงานฯ โดยประชาชนเป็นกลไกหลักในการดำเนินงานและสร้างเครือข่ายประชาชนเป็นผู้ดูแล รวมถึงความเข้มแข็งของกลไกประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพหรือศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนที่มีความพร้อมแตกต่างกันในการทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และรูปแบบการดำเนินงานติดตามประเมินผล จึงต้องมีการออกแบบให้สอดคล้องกับศักยภาพของกลไกประชาชนในแต่ละพื้นที่
สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเกิดผลดีต่อเด็ก มีเด็กที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 3,500 ครัวเรือนและมีโอกาสจะขยายต่อได้มากขึ้น เพราะผู้ดูแลเด็กมีความเข้าใจในการสร้างเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัย ซึ่งในทุกโครงการทุกกิจกรรม จะใช้หนังสือภาพ หนังสือนิทาน เป็นเครื่องมือที่สำคัญ พบว่า เด็กมีพัฒนาการและสุขภาพดีทั้งอีคิว ไอคิว มีพฤติกรรมที่ดี ไม่เสี่ยงต่อขนมที่มีผงชูรส น้ำตาลจากอาหาร การดูทีวี ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลทำให้เด็กเสี่ยงต่อภาวะแน่นิ่งและสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ เป็นต้น การเปลี่ยนเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่เพียงเกิดขึ้นในตัวเด็กที่เป็นกลุ่มได้รับประโยชน์เท่านั้น ในคนที่แวดล้อมตัวเด็กมีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ระหว่างศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ซึ่งถือเป็นกลไกภาคประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์เรียนรู้ในชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้นำประเด็นเรื่องการอ่านไปเชื่องโยงกับเรื่องของสุขภาพเด็กปฐมวัย มหัศจรรย์ของการพัฒนาสมอง ที่สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องการเติบโตของสมองที่มากสุดในช่วงวัยแรกเกิด – 6 ปี เห็นได้ชัดเจนว่าการอ่านช่วยในเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพทั้งทางร่างกาย และทางจิตวิทยา เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลเด็กและสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย
หากในมุมมองของความคุ้มค่าของการดำเนินงานที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนแล้ว มีนาสรุปฉายภาพดังนี้
1. เกิดแกนนำที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาแผนงานการพัฒนาเด็กที่ยั่งยืนในพื้นที่ โดยใช้กองทุนที่เป็นของประชาชน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ใน อบต. และเทศบาล เป็นทรัพยากร /ทุนสังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยนำประเด็นการอ่านเป็นเนื้องานหลักในการพัฒนาเด็ก
2. เกิดจำนวนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอ่านเพิ่มขึ้นในพื้นที่ โดยการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายดำเนินการ
3. เกิดกระบวนการการขับเคลื่อนงานอย่างมีส่วนร่วม มีการเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงเครือข่าย ทั้งฝ่ายการศึกษา (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) ฝ่ายปกครอง (คณะกรรมการผู้นำชุมชน) ฝ่ายท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล) ฝ่ายสาธารณสุข (รพ.สต. รพ.ชุมชน) และฝ่ายประชาชน (ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนอำเภอ/จังหวัด)
4. เครือข่ายภาคประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพได้ร่วมกันออกแบบพัฒนาเนื้อหางานที่นอกเหนือจากการคุ้มครองสิทธิประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ สู่การออกแบบกิจกรรม/โครงการที่ส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัยด้วยการอ่าน เป็นการทำงานเชิงฐานรากที่สำคัญของการพัฒนา เพราะการลงทุนครั้งนี้ช่วยให้คนทำงานเห็นคุณค่าของการพัฒนาชีวิต และเห็นผลถึงการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด
สำหรับปลายทางของการดำเนินงานที่คาดหวัง มีนากล่าวว่า อยากให้การสร้างโมเดลรูปธรรมที่เกิดขึ้นจากการทำงานด้านสุขภาวะเด็กเล็ก ใน สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ขยายผลไปสู่เขตอื่นๆ ครบทั้ง 12 เขตในประเทศไทย และมีเด็กปฐมวัยเป็น 1 ใน 5 กลุ่มเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์ชี้วัดเรื่องสุขภาพดีทุกด้าน โดยใช้หนังสือและการอ่านเป็นเครืองมือที่สำคัญ รวมถึงกระบวนการพัฒนาเด็กด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายการประสานกลไกสุขภาพทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน และท้องถิ่น ในแนวทางที่ดำเนินการนี้จะสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย การขยายผล ที่จะเป็นจริงได้ คงต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันสนับสนุน เช่นดังที่แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กรุยทางไว้ เพื่อให้เกิดเวทีการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพและหน่วยงานบริการสาธารณสุข ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาเด็ก ให้ความรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัยด้วยการอ่าน รวมถึงมีการติดตามผลการจัดเวทีให้ความรู้แก่เครือข่ายประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพและภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งการพัฒนาโครงการหรือผลของการดำเนินงาน มีบทเรียน แนวทางอย่างไรในการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
ที่มา: แผนงาสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน