สร้างสุขการเงิน ให้มนุษย์เงินเดือน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


สร้างสุขการเงินให้มนุษย์เงินเดือน thaihealth

แฟ้มภาพ


"มีเงินเดือนแต่ไม่มีเงินเก็บ" "ใช้เงินเดือนชนเดือน" "มีเงินไม่พอใช้" กระทั่ง "มีหนี้สินติดตัว"ปัญหาเหล่านี้อาจเป็นเรื่องปกติของชีวิต "มนุษย์เงินเดือน" ในทุกองค์กร


ซึ่งไม่เกิดขึ้นกับแค่พนักงานระดับปฏิบัติการภายในโรงงาน แต่หากรวมถึงพนักงานกินเงินเดือนในองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในเมืองใหญ่และต่างจังหวัด แต่ในอีกมุมหนึ่ง พฤติกรรมในข้างต้นอาจเป็น "สัญญาณเตือนภัย" ว่าคนทำงานในองค์กรกำลังประสบปัญหาทางการเงิน และองค์กรนั้นจะค่อยๆ ห่างไกลการเป็น "องค์กรแห่งความสุข" หรือ "Happy Workplace" ตามแนวคิดของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกไปทุกขณะ


ปัญหาทางด้านการเงินซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเหล่ามนุษย์เงินเดือน ส่งผลให้เกิดความเครียดของทั้งตัวเองและครอบครัว แน่นอนว่าปัญหาทางการเงินยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กรให้ย่ำแย่ลง และยังบั่นทอนความสุข ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตที่บ้านและที่ทำงานอีกด้วย


เช่นเดียวกับผลวิจัยของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่สำรวจทักษะทางการเงินของคนไทยประจำปี 2556 โดยใช้แนวสำรวจของ OECD ซึ่งครอบคลุมการวัด 3 ด้านคือ ด้านความรู้ทางการเงิน ด้านพฤติกรรมทางการเงิน และทัศนคติทางการเงิน ผลศึกษาพบว่าคนไทยมีคะแนนทักษะทางการเงินเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 58.5 ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ 14 ประเทศ ที่ร่วมโครงการของ OECD ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 62.3%


ในรายงานยังสรุปด้วยว่า  คนไทยไม่มีความรู้ทางการเงินอย่างถ่องแท้ โดยมีคนไทยมากกว่าครึ่งไม่เข้าใจการคำนวณดอกเบี้ยทบต้น และยังมีคนไทยจำนวนมากที่ไม่เข้าใจเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยของสินเชื่อ หรือการคำนวณเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ขณะที่ สถิติการออมของคนไทยพบว่า สถานการณ์ยิ่งน่าเป็นห่วงเนื่องจากอัตราการออมของคนไทยอยู่ในอัตราต่ำ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจวินัยการออมของคนไทยประจำปี 2556 พบว่า ประชาชนที่ไม่มีเงินออมเลยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 22.6 และมีประชาชนที่มีการออมหลังเกษียณอย่างเพียงพอมีแค่ร้อยละ 23.3


การออมเงินของคนไทยจึงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในภาวะที่คนไทยกำลังก้าวเข้าสู่วัยชราภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สังคมไทยกำลังเผชิญกับภาวะอันตรายจากการ "ขาดฐานเงินออม" ของครัวเรือนไทยยุคใหม่ ซึ่งนอกจากจะไม่มีการออมแล้ว ยังพบการก่อหนี้สินเพิ่มขึ้น สาเหตุเพราะการขาดวินัยทางการเงิน และไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลทั้งหมดในข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้ แต่ "วิธีหาเงิน" แต่ไม่รู้วิธีการ "ใช้เงิน" และยังขาดความรู้ใน "การบริหารจัดการเงิน" อีกด้วย


ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงรวบรวมองค์ความรู้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่ว่านี้ ผ่านหนังสือ "คู่มือ Happy Money ตอน องค์กรสร้างสุขทางการเงิน" ที่จะมาแนะนำให้มนุษย์เงินเดือนรวมถึงประชาชนทั่วไปรู้จักการ "วางแผนการเงินส่วนบุคคล" ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญสำหรับทุกคน ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงมั่งคั่งและมีอิสรภาพทางการเงินในอนาคต โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องวางแผน เนื่องจากปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่เจริญขึ้น มนุษย์จึงมีอายุยืนยาวขึ้น และสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องสูงขึ้นตามไปด้วย


นอกจากนี้ ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ยังได้สร้างโมเดล "ความสุขทางการเงิน" ขึ้นมาผ่านกระบวนการลงมือปฏิบัติ  "9 ขั้นตอน สร้างความสุขทางการเงิน" เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้องค์กรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงด้วยตัวเอง ภายใต้ โครงการส่งเสริมการออมและการบริหารเงินส่วนบุคคล หรือ "Happy Money หมดหนี้มีออม" ซึ่งจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล แก่ ผู้บริหาร หัวหน้างาน และพนักงาน เพื่อสร้างความสุขทางด้านการเงินให้เกิดขึ้นในองค์กร


โดยฝึกให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถให้คำปรึกษาด้านการวางแผนใช้จ่ายเงินแก่พนักงานผ่านเครื่องมือทางการเงินอย่างง่าย และช่วยให้พนักงานที่มีปัญหาทางการเงินมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการเงิน สามารถบริหารรายรับ-รายจ่าย พร้อมทั้งร่วมกันแก้ปัญหาหนี้สินด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จนสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พนักงาน และสร้างความสุขทางการเงินให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างยั่งยืน


 

Shares:
QR Code :
QR Code