สร้างสรรค์สุข เพื่อฉลาดรู้เรื่องเพศ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
เปิดใจพ่อแม่คุยเรื่องเพศกับลูก เพื่อรู้เท่าทันอย่างถูกต้อง ด้วยโครงการ "เปิดโอกาสคุย…ปิดโอกาสพลาด"
พ่อแม่ผู้ปกครองพร้อมแค่ไหนเปิดใจคุยเรื่องเพศกับลูกตัวเอง "เจ้าหนูเปลี่ยนเป็นเจ้าโลก หนูแตกเนื้อสาวแล้วนะคะ" อุปสรรคของสังคมไทยมองเรื่องเพศเป็นเรื่องหยาบ สกปรก ของต้องห้าม เรื่องเพศเป็นข้อเท็จจริงด้านร่างกายและจิตใจที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกตามธรรมชาติของมนุษย์ ต้องเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่เรียนรู้จากสื่อลามก จดจำข้อมูลผิดๆ จากเพื่อนฝูง การเปิดใจต่อกันเป็นกุญแจสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว วางแผนชีวิตเรื่องเพศให้ลูกเพื่อรู้เท่าทันอย่างถูกต้อง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปยัง รพ.สต.วังไทร จุดเริ่มต้นการทำงานจากกลุ่มเด็กเปราะบาง โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก องค์กรพัฒนาเอกชน 8 กลุ่ม คือ เด็กที่มีภาวะเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ เอดส์ ความยากจน ครอบครัวแตกแยก ปัญหาแม่วัยรุ่นในตำบลสูงเป็นอันดับต้นของจังหวัดเฉลี่ย 18-20 คน การทำงานร่วมกับโรงเรียนมัธยมขยายโอกาสขยายมาสู่โรงเรียนประถมทั้งตำบล โดยทีมวิทยากรในพื้นที่ พรรณี ศรีภักดี ผู้อำนวยการ รพ.สต.วังไทร ให้การต้อนรับ ดลฤดี สุรินทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ:ตัวแทนทีมวิทยากร "ครูแกนนำหมอ-อปท." ให้ความรู้แก่ครูในโรงเรียนและระบบส่งต่อมายัง รพ.ปากช่อง ติดตามผลความเชื่อมโยงการทำงานของ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ชุมชนท้องถิ่นสถานพยาบาล และหลักสูตรพ่อแม่ในการให้คำปรึกษาเรื่องเพศแก่ลูก
คู่มือโอกาสทองคุยกับลูกเรื่องเพศ "เปิดโอกาสคุย…ปิดโอกาสพลาด" เพื่อสุขภาวะทางเพศที่ดีของลูกหลานในวันนี้และอนาคต เคยไหมได้แต่อึ้งเมื่อลูกหลานถามคำถามเรื่องเพศ? พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนที่เจอสถานการณ์แบบนี้ ส่วนใหญ่ตอบแบบปัดไปก่อน บอกว่ายังไม่ถึงเวลาต้องรู้บ้าง อีกหน่อยโตขึ้นก็รู้เองบ้าง หรือไม่ใช่เรื่องของเด็ก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วโลกรอบตัวเรา ลูกเราอยู่ท่ามกลางสังคมที่พูดเรื่องเพศกันตลอดเวลามานานมากแล้ว เด็กวัยกำลังโตเจอกับความสงสัยสารพัดกับเรื่องราวด้านเพศทั้งร่างกายของตัวเอง การวางตัวกับเพื่อน และคนที่ตัวเองรู้สึกปิ๊ง ทั้งการตัดสินใจไม่ได้ต่างไปจากคุณพ่อคุณแม่เมื่อสมัยเป็นวัยรุ่น
3 โอกาสทองต้องคว้า….เมื่อเด็กอยากคุย โดยเฉพาะเมื่อลูกหลานเริ่มต้นตั้งคำถามด้วยความอยากรู้อยากเห็น ก็ต้องใช้จังหวะนี้คุยกับเขาแม้บางเรื่องลูกสนใจเกินกว่าพัฒนาการตามช่วงวัยของเขา เมื่อมีโอกาส จากข่าวสาร ละคร และสถานการณ์ตอบตัวก็ต้องหยิบฉวยโอกาสคุย ตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องเพศไปด้วยกัน เมื่อจำเป็นต้องคุย แม้ว่าเด็กยังไม่ตั้งคำถาม จำเป็นต้องคุยไว้ก่อนล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่ลูกสาวจะมีประจำเดือน หรือลูกชายเริ่มฝันเปียก ยิ่งลูกเริ่มมีแฟนต้องสร้างโอกาสเริ่มต้นคุย อย่าปล่อยให้ลูกพัฒนาจนมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว
นิยดา พลจันทึก หรือ แม่ดา ตัวแทนผู้ปกครองที่ผ่านการอบรมหลักสูตรพ่อแม่ในการให้คำปรึกษาเรื่องเพศแก่ลูก ลูกทุกคนอยากได้พ่อแม่ที่รักและห่วงใยลูก พูดคุยได้ทุกเรื่องใช้คำพูดที่แสดงความเป็นห่วงใย แต่บางครั้งพ่อใช้คำพูดที่ก่นด่าว่าทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก เป็นเพราะพ่อแม่ไม่รู้จักใช้คำพูด บางครั้งลูกกลับบ้านผิดเวลา "ทำไมถึงมาช้า" ควรจะใช้คำพูดว่า "หนูกลับบ้านช้า แม่เป็นห่วง" จะทำให้ลูกซาบซึ้งใจว่าพ่อแม่รักและเป็นห่วงลูกสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ มีอะไรก็ไม่ปิดบังอำพราง ลูกบางคนไม่ยอมบอกพ่อแม่ว่ามีแฟนแล้ว แอบไปพบปะกันเพราะพ่อแม่คอยกีดกันหวงแหน ทำให้เกิดช่องว่างที่จะทำความเข้าใจกัน เราต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแม่ลูก สิบคำพูดของแม่ที่ลูกไม่ชอบโดยเฉพาะการเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น
จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) สะท้อนแง่มุมการทำงานจังหวัดนครราชสีมา ปัจจัยความสำเร็จและการเดินหน้าต่อ "สสส.รณรงค์ให้สังคมไทยสร้างสุขภาวะทางเพศและเยาวชน การสานพลังในระดับจังหวัด ทำอย่างไรให้คนในชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครองใช้ข้อต่อสำคัญเข้าใจลูกเป็นวัคซีนเพื่อหลีกหนีความกลัว พ่อแม่บางคนกลัวลูกมีแฟนและไม่บอก เด็กต้องการบอกพ่อแม่แต่บางครั้งพ่อแม่สร้างกำแพงกีดกั้นการมีแฟนของลูก พ่อแม่ไม่สามารถติดตามลูกได้ทุกฝีก้าว ต้องฝึกฝนให้ลูกกล้าคิดตัดสินใจสร้างทักษะด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันมีความเคารพความแตกต่างที่หลากหลาย ทุกวันนี้ยังมีการรังแกกันในโรงเรียน ล้อเลียนเด็กอ้วน เด็กดำ เด็กทอม เด็กดี้ถูกรังแกถูกล้อเลียน การไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทางเลือกของเด็กชายเด็กหญิงเมื่อท้องไม่พร้อม จะต้องตัดสินใจท้องต่อหรือยุติการท้องที่ปลอดภัย ประเทศไทยอนุญาตให้มีการทำแท้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อคลี่คลายการตีตราตัวเอง"
การที่เรามีรัก เป็นการสร้างปัญหาให้กับครอบครัวและสังคม คนที่เสียใจที่สุดคือพ่อแม่ การท้องไม่พร้อมเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย ตราบใดที่แม่ไม่พร้อมก็ต้องหาครอบครัวชั่วคราวประคับประคองเป็นการช่วยทดแทนพ่อแม่วัยรุ่น ทั้งนี้สหทัยมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือครอบครัวชั่วคราว เมื่อแม่วัยใสเรียนจบมีงานทำแล้วจึงรับลูกของตัวเองกลับมาเลี้ยงดูต่อ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีบทบาทสนับสนุนจัดสวัสดิการครอบครัวชุมชน ดูแลครอบครัวตั้งแต่ 6 เดือน-3 ปี ก่อนที่เด็กจะเข้าไปศูนย์เด็กเล็ก
"ความฉลาดรู้ในเรื่องเพศเป็นหัวใจสำคัญ โรงเรียนบุญวัฒนาเป็นภาพสะท้อนอย่างดีว่าจะทำอย่างไรให้เด็กฉลาดรู้เรื่องเพศ รู้เท่าทันตัวเอง ประเมินตัวเองได้ว่าสุขหรือทุกข์เป็นอย่างไร รู้เท่าทันสังคม ไม่เพียงแต่การเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสือเท่านั้น หากมีผู้ใหญ่รอบข้างให้คำปรึกษาช่วยเหลือ โค้ชชิ่งในฐานะพ่อแม่มีทักษะประสบการณ์ชีวิตมาก่อน ต้องมีการขยายมิติ สร้างเครือข่ายมีเฟซบุ๊กให้เด็กเข้าถึงได้อย่างถูกต้อง ทุกวันนี้เด็กอยากรู้อะไรถามกูเกิลรู้ได้ทั้งหมด มีเว็บไซต์ขายยาทำแท้งเถื่อนหลอกเงินเด็กเยอะมาก เราต้องช่วยกันอุดช่องว่าง เราต้องช่วยผ่อนหนักผ่อนเบา ไม่ทำให้เด็กรู้สึกผิด เด็กบางคนถูกข่มขืนซ้ำซากเพราะอยู่ในสังคมที่ใช้ทัศนคติทำให้ตัวเองกลายเป็นคนผิด แต่งตัวโป๊อย่างนี้ถึงได้ถูกข่มขืน"
การขับเคลื่อนสุขภาวะทางเพศในพื้นที่ต้นแบบ ต้องมีภาคีผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทีมกลไกชุมชน อาศัยความร่วมมือของ อสม., อปท., รพ.สต., รร., ผู้นำเยาวชน, พ่อแม่ผู้ปกครองเยาวชนมีบทบาทในการขับเคลื่อน ด้วยพลังนโยบายของประเทศและท้องถิ่นร่วมกันทำงานอย่างมีบูรณาการ สร้างบรรยากาศชุมชนเชิงบวกเรื่องเพศ ดร.อิงแฮมแห่งประเทศอังกฤษเชื่อในพลังของท้องถิ่นถึงกับใช้คำพูดว่า "ใครเริ่มทำอะไรได้ก็ให้ลงมือทำก่อน" การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงของเด็กและเยาวชน