สร้างวิถีชีวิตดี ด้วยการปลูกผักปลอดสารพิษ
ที่มา : วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก : ผักสวนครัว โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และประชารัฐ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ชีวิตดี๊ดีมีผักปลอดสารพิษ เทศบาลเมืองวังชมพู อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
ชุมชนที่ 2 ชุมชนทรัพย์ชมพูยังคงเป็นชุมชนเกษตรกรรม คนที่นี่ยึดอาชีพทำไร่ ทำนา ปลูกข้าวโพด พืชผักสวนครัว แต่ถ้าหากใครได้ผ่านไปผ่านมา จะเห็นว่าชุมชนแห่งนี้ปลูกผักสวนครัวอย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยเฉพาะชะอม ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถปลูกแทรกในป่ามะขาม มะม่วง ไร่นาสวนผสมได้ เก็บยอดได้ตลอดปี แต่ต้องคอยแต่งกิ่งใบ ตัดกิ่งยาวออก เพื่อให้แตกกิ่งออกมาใหม่ที่สำคัญที่นี่มีตลาดรองรับผลผลิต
“ฝนตกเก็บชะอมไปขาย สมัยสิบปีก่อนขายกำละบาท เจ็ดกำห้าบาท มีแม่ค้ามารับไปขายที่ตลาดบ้านวังชมพู ทั้งขายปลีก ขายส่ง ได้เงินให้ลูกไปโรงเรียนก็ดีใจแล้ว”เนตรนภา เนตรแสงสี สมาชิกกลุ่มพืชผักปลอดสารพิษ ย้อนความให้ฟัง
กระทั่งสำนักงานเกษตรอำเภอเข้ามาส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทรัพย์ชมพู ชุมชนที่ 2 มี พิชญาพัฒน์ เป็งแก้ว เป็นประธานกลุ่ม ได้รับการสนับสนุนให้ทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ โดยทางเกษตรอำเภอมาให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักและสนับสนุนให้ส่งพืชผักเข้าประกวดตามเวทีต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเกษตรกรเกิดการพัฒนาตนเอง
นับแต่นั้นมา ภายในกลุ่มก็ทำปุ๋ยหมักและฮอร์โมนไข่ไว้แบ่งกันใช้ในกลุ่มด้วยกัน เพราะฉีดพืชผักแล้วไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างฮอร์โมนไข่ที่ใช้บำรุงลำต้นและรากให้แข็งแรง บำรุงดิน แก้รากเน่า และแก้พืชเหี่ยวนั้น ทำจากลูกแป้งข้าวหมากบดละเอียด ไข่ไก่ทั้งเปลือก และนมเปรี้ยว น้ำซาวข้าว กากน้ำตาล หักรวมกันไว้ ใช้ฉีดพืชอาทิตย์ละสองครั้ง ในสัดส่วน 5 ช้อนต่อน้ำ 50 ลิตร
ส่วนปุ๋ยหมักหรือฮอร์โมนน้ำหมักจากพืช ช่วยเร่งยอดทำให้ผักเขียว ทำจากซากอินทรีย์ทั้งหลาย น้ำมาใส่กกน้ำตาลเพิ่มแคลเซียมจากกระดูสัตว์ หมักจนหนอนขึ้น ใช้ในสัดส่วน 5 ช้อน ต่อน้ำ 20 ลิตรเช่นเดียวกัน ถ้ามีแมลงก็เอาสารไล่แมลงวันไปใส่ด้วย สารนี้จะไล่แมลงออกไป ไม่เป็นพิษต่อภัยธรรมชาติ
กระทั่งประมาณปี 2550 อบต.วังชมพู มาติดต่อว่าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งอยากได้ผักปลอดสาร แม่บ้านในชุมชนที่ 2 ที่รวมกลุ่มกันอยู่แล้วประมาณ 20 ครัวเรือน จึงสบโอกาส และเลือกส่งชะอมตามโควตา โดยเก็บจากแปลงแต่ละครัวเรือนมารวมกันไว้แบ่งกันส่ง โดยมีทางกลุ่มคอยประสานตรวจสอบยอดชะอมของแต่ละบ้านให้ครบตามจำนวนที่ห้างสรรพสินค้านั้นต้องการในแต่ละวัน
จากเมื่อก่อนชะอมเป็นรายได้เสริม จึงกลายเป็นรายได้หลักโดยปริยาย “การมีกลุ่มทำให้เราสามารถเก็บส่งได้รอบละ 50 กิโลกรัมต่อออเดอร์ที่ขอมา วันเว้นวัน ส่วนพืชผักสวนครัวอื่นๆ เช่น มะเขือ กระเพรา ก็ยังส่งขายที่ตลาดชุมชนอยู่”อัมพร เนตรแสงสี สมาชิกกลุ่มฯ อธิบาย
กระนั้นในแต่ละฤดูกาลจะเก็บชะอมได้ไม่เท่ากัน อย่างปีนี้แล้งก็เก็บได้ไม่ค่อยครบตามออเดอร์ แต่จะได้ราคาดีเพราะขาดตลาดและเนื่องจากต้องเก็บชะอมปริมาณมาก เจ้าของสวนจึงมีการจ้างงานคนในชุมชนเก็บ เป็นการกระจายรายได้ชุมชนอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ กลุ่มแม่บ้านเกษตรฯ ยังได้ส่งต่อองค์ความรู้สู่ชุมชนอื่นๆ อย่างอำเภอน้ำหนาว หล่มสัก และบึงสามพัน ด้วยการเป็นวิทยากรนอกสถานที่ ตามเรือนจำ ค่ายทหาร และวิทยาลัยเทคนิค หรือบางครั้งก็มีครูพาเด็กนักเรียนมาเรียนถึงที่
วิถีเกษตรของกลุ่มพืชผักปลอดสารพิษสร้างรายได้ที่พอเพียงในครัวเรือนพร้อมๆ กับความสุขสบายใจ สมาชิกคนหนึ่งสะท้อนว่า "ทำเกษตรมันมีความสุข อิสระเสรี…”