สร้างวัฒนธรรมการอ่าน เสริมความคิดพิชิตความเขลา

 

แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
 
การอ่านถือเป็นสิ่งสำคัญแก่ทุกคนที่จะสามารถช่วยเพิ่มพูนความรู้ในราคาถูกที่สุด แต่ปัญหาคือคนเรากลับไม่เลือกที่จะสัมผัสกับสื่อชนิดนี้ จนทำให้อัตราการอ่านหนังสือของคนไทยอยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเด็กที่จะเติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรของชาติในอนาคต ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักและความสำคัญกับการอ่านมากขึ้น        
 
สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้า้งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
 
“สุดใจ พรหมเกิด” ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เปิดเผยว่า แผนงานเกิดขึ้นเพราะอยู่ภายใต้กลุ่มแผนงานสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว ของแผนสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม เริ่มดำเนินงานในฐานะแผนงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 โดยก่อนหน้านี้มีฐานะเป็นโครงการส่งเสริมการอ่าน ในแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน คณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 มีมติอนุมัติให้พัฒนายุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่านเป็นแผนงาน เนื่องจากเห็นว่า การอ่านเป็นปัจจัยสำคัญของการนำไปสู่พฤติกรรมเชิงบวกด้านสุขภาวะ และเป็นการเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาที่สำคัญยิ่ง อันสอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ที่ได้ประกาศให้การส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552          
 
“ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน” บอกว่า ในการดำเนินงานปี 2553 แผนงานได้มีส่วนทำให้เกิดการขับเคลื่อนสังคม ในเรื่องของการส่งเสริมการอ่านอย่างกว้างขวาง และได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการชาติ ในฐานะองค์กรขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 4 ของแผนงานที่ 4  คือ ยุทธศาสตร์เครือข่ายความร่วมมือการอ่าน เนื่องจากการส่งเสริมการอ่าน ถือเป็นวาระสำคัญของชาติ และสอดคล้องกับพันธกิจหลักของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. คือ การส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะทางปัญญา แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านจึงเห็นสมควรที่จะขอดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อสานต่อกลไกต่างๆ ทั้งในระดับนโยบายชาติและนโยบายท้องถิ่น ที่แผนงานได้เริ่มต้นไว้แล้วในปี 2553          ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการเก็บเกี่ยวผลงาน และการสร้างกลไกที่ยั่งยืนในองค์กรเจ้าภาพร่วมต่างๆ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านจึงขอเสนอร่างยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการสำหรับปีงบประมาณ 2554 เพื่อพิจารณา          
 
คุณสุดใจ กล่าวว่า วัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิต เผยแพร่ และกระจายหนังสือเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ มีเนื้อหาสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ท้องถิ่น และพัฒนาการเด็ก รวมถึงมีราคาที่เหมาะสม          เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้านการสร้างเสริมพฤติกรรมการอ่าน โดยเฉพาะการสร้างเสริมอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน เชื่อม ประสาน สนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนกลไก มาตรการ นโยบายระดับต่างๆ ทั้งภาครัฐและประชาสังคมที่นำไปสู่การสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และสนับสนุนกิจกรรม สื่อรณรงค์และสร้างกระแสสังคม
 
“สำหรับเป้าหมาย คือ เด็ก เยาวชน ครอบครัว เกิดการรับรู้ เรียนรู้ และมีทัศนคติแนวโน้มสู่พฤติกรรมการอ่านสู่สุขภาวะ กลุ่ม องค์กร เครือข่ายด้านการสร้างสรรค์สื่อและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เครือข่ายด้านวิชาการ รวมถึงกลไกและช่องทางนำหนังสือเด็ก เยาวชน และชุมชน นักสื่อสาร สื่อมวลชน มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการสร้างเสริม” ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวและว่า แผนงานได้ส่งเสริมการอ่านของเด็ก ทำให้การอ่านเป็นกระแสสังคมในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย เช่น ในจังหวัดที่ยังไม่ได้มีการประกาศให้เป็นนครแห่งการอ่าน ได้จัดเตรียมทรัพยากรด้านต่างๆ รองรับ อาทิ จังหวัดนครปฐม แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นวาระหลักของประเทศหรือเป็นวัฒนธรรมในสังคม กลุ่มพื้นที่เป้าหมายของแผนงาน เช่น โรงเรียน เกิดการพัฒนานวัตกรรมการรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน ที่ส่งผลกระเทือนทั้งโรงเรียน และยังเอื้อไปถึงชุมชนรอบข้าง รวมถึงสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์มีทัศนคติและกระบวนการทำงานเป็นผู้สร้างสรรค์ที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการอ่านในพื้นที่ด้วย       
 
ห้องสมุดจุดฝัน
 
คุณสุดใจ ยังกล่าวต่ออีกว่า มีภาคีมืออาชีพ รายการ the library ห้องสมุดจุดฝัน ที่ไม่เพียงสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กในโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม แต่ได้ชักชวนองค์กรธุรกิจ (สนับสนุนกล้องถ่ายทำรายการเชียร์อ่าน 5 โรงเรียน) เข้าร่วมกระตุ้น “จิตอาสา” ให้เยาวชนลุกขึ้นจัดกิจกรรมนวัตกรรมส่งเสริมการอ่าน เพื่อเพื่อนในโรงเรียนและชุมชนรอบข้างในโครงการ “5 โรงเรียนเชียร์อ่าน” นำร่องจนประสบความสำเร็จ มีเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 9,600 คน          นอกจากนี้ ทางสถานีแม่ข่ายได้นำรายการทาง tnn.2 เผยแพร่สู่เครือข่ายสื่ออื่นๆ อาทิ เว็บไซต์ เคเบิลทีวี ฯลฯ มีผู้เข้าชมกว่า 1.3 ล้านคน และยังเกิดเยาวชนเครือข่าย “เด็กเชียร์อ่าน” ระดับประถมศึกษา 200 คน จัดกิจกรรมเชียร์อ่าน ทั้งงานเดินป้ายรณรงค์, เชิญชวนคนตลาดนัดร่วมเขียนไปรษณียบัตรชวนอ่าน ฯลฯ กว่า 20 ครั้ง          
 
เมื่อถามว่า สถานการณ์การอ่านของเด็กไทยเป็นอย่างไร หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ โดยทั่วโลกขณะนี้กำลังประสบปัญหาเรื่องการอ่าน ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เพราะกระแสของสื่อใหม่ที่จูงใจ เข้าถึงได้ง่ายกว่า และทั่วโลกก็กำลังรณรงค์ให้มีประชากรหันมาสนใจการอ่านกันมากขึ้น
 
คุณสุดใจ กล่าวว่า ค่าเฉลี่ยการอ่านของเด็กไทยจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจการอ่านของประชากร พ.ศ.2551 มีเด็กเล็กจำนวนทั้งสิ้น 5.5 ล้านคน (ชาย 2.8 /หญิง 2.7 ล้านคน) เด็กเล็กมีอัตราการอ่านหนังสือร้อยละ 36.0 (เด็กผู้ชายร้อยละ 36.7 เด็กผู้หญิงร้อยละ 35.2) มีเด็กเล็กที่อ่านหนังสือทั้งสิ้นเพียง 2.1 ล้านคน สำหรับการดูหนังสือภาพร่วมกับเด็กหรือการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ คือ เพียงร้อยละ 36.0 ขณะที่กิจกรรมที่พาเด็กออกนอกบ้านคิดเป็นร้อยละ 72.9 การสำรวจจำนวนหนังสือสำหรับเด็กเล็ก (0-5 ปี) ที่มีอยู่ในบ้าน ซึ่งข้อตกลงจากแผนปฏิบัติการ “โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก” (a world fit for children) ขององค์การกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ในด้านพัฒนาการของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ได้กำหนดตัวชี้วัดว่า ควรมีหนังสือสำหรับเด็กในครัวเรือนอย่างน้อย 3 เล่ม          
 
ส่งเสริมการอ่าน
 
ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวต่อว่า สถานการณ์ “เยาวชนกับการอ่าน” โดยอัตราการอ่านในกลุ่มวัย 6 ปีขึ้นไป จากที่เคยสูงขึ้นร้อยละ 69.1 ในปี พ.ศ.2548 (พ.ศ.2546 ร้อยละ 61.2) กลับลดลงในปี พ.ศ.2551 เหลือร้อยละ 66.3 การสำรวจการใช้เวลาว่างโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2544) พบว่า คนไทยอายุ 10 ปีขึ้นไป อ่านหนังสือเพื่อเป็นกิจกรรมในเวลาว่าง 4.4 คน จาก 100 คน (เกาหลี 56.4% ของคนทั้งหมด) เหตุผลเพราะมีสื่ออื่นที่น่าสนใจกว่า ได้แก่ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต หนังสือมีราคาแพง ไม่มีหนังสือให้อ่าน ไม่เห็นความสำคัญ (ผู้ปกครอง) ห้องสมุดมีหนังสือไม่น่าสนใจ ผู้บังคับให้อ่าน
 
“หากเด็กไม่อ่านหนังสืออาจจะขาดการก่อเกิดของการเกิดจินตนาการ จินตภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่ง “หนังสือ” เป็นสื่อที่ทรงพลังที่สุดหากเทียบกับสื่ออื่น ก่อให้เกิดการคิด วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์งานเขียนในวัยเด็ก ก็จะสร้างความเข้าใจ รับรู้ความรู้สึก อารมณ์ได้ง่าย”          
 
สุดท้ายนี้ คุณสุดใจ กล่าวสรุปว่า แผนงานในปีนี้จะขับเคลื่อนการอ่านในกลุ่มเด็กในครอบครัว เด็กในโรงเรียนและกลุ่มพิเศษ เช่น เด็กออทิสติก ส่วนปัญหาอุปสรรคของแผนงาน คือ การเชื่อมโยงเกี่ยวร้อยเครือข่ายการทำงานให้มีพลัง เห็นการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบ ขณะที่ สสส.ให้การสนับสนุนโดยยกระดับให้ความสำคัญเป็นแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
 
 
 
 
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Shares:
QR Code :
QR Code