สร้างภูมิคุ้มกันให้ท้องถิ่น จ.สกลนคร
เปิดกิจกรรมสภาเด็กและเยาวชน สกลนครแก้ปัญหา และสร้างภูมิคุ้มกันให้ท้องถิ่น
จากปัญหาท้องไม่พร้อม การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ขาดการ เรียนรู้ภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น รวมไปถึงการขาด ความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็กและชุมชน จุดประเด็นให้สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลอากาศอำนวย อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร รุกขึ้นมารวมพลังสำรวจปัญหาด้านเด็กและเยาวชนในชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอขาดความเข้มแข็ง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อย่างตรงจุดและขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดจน ไม่สามารถสร้างความพร้อมแก่การพัฒนาเด็กและเยาวชนใน ท้องถิ่นได้
นายณัฐพงษ์ อินธิโคตร ประธานสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลอากาศอำนวย เปิดเผยถึงแนวคิดที่จะเริ่มต้นแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยให้ภาคประชาสังคมในชุมชน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชุมชน เด็กและเยาวชน ร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านโครงการ "บ่มรัก เพาะใจ สานสายใย เยาวชน" ซึ่งเป็นโครงการย่อยของจากโครงการการบูรณาการพลังเด็ก และเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชนที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.ให้เด็กและเยาวชนได้อนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น 2.การเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในวัยอนามัยเจริญพันธุ์ที่ถูกต้องและเหมาะสม และ 3.การพัฒนาจิตอาสาทำกิจกรรม บำเพ็ญประโยชน์ และพัฒนาชุมชนร่วมกันโดยมีคณะทำงานร่วมระหว่างสภาเด็กและเยาวชน ชุมชน และเทศบาลตำบลอากาศอำนวยลงสำรวจชุมชนค้นหาข้อมูลพื้นที่ดีและสร้างสรรค์ พื้นที่เสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากปราชญ์ชาวบ้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และร้านค้า ที่จำหน่ายเหล้า/บุหรี่ในชุมชน
ว่าที่ ร.ต.พัฒนายุทธ เพ็งบุญ ผอ.กองสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลอากาศอำนวย กล่าวว่า โครงการ "บ่มรัก เพาะใจ สานสายใยเยาวชน" ใช้เรื่องภูมิปัญญามาเป็นหลักในการบ่มความรัก คือรักษาประเพณีวัฒนธรรม "เพาะใจ" ให้เห็นศักยภาพของสภาเด็ก และเยาวชน โดยการใช้โจทย์แก้ปัญหาเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ แม่วัยใส ยาเสพติด ด้าน "สานสายใยเยาวชน" เป็นกิจกรรมจิตอาสา ที่จะทำร่วมกับชุมชน โดยร่วมกับทีมสภาเด็กและเยาวชน จังหวัดอุบลราชธานีด้วยการทำสื่อทำวีดีโอซึ่งถือเป็นแกนหลักในการดึงเด็ก เพราะสื่อเป็นสิ่งที่สะท้อนผลงานได้ดีที่สุดในการดึงเด็กมาเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่นำเสนอเชิงบอกเล่าแต่เน้นผลงานให้ดู และขณะนี้ทางเทศบาลอากาศอำนวยมีการสร้างเครือข่ายโดยรอบ พยายามรวมกลุ่มเด็กที่สนใจเรื่องกีฬา ดนตรี ชักจูงให้เด็กเข้าร่วม
นายวัชรินทร์ รุณจักร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล อากาศอำนวย กล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทโย้ย 1 ใน 6 กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร ที่มีภาษาพูด ประเพณี วัฒนธรรมสืบทอดมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เน้นคือการหันมาส่งเสริมในเรื่องของประเพณี วัฒนธรรมของคนพื้นถิ่น ไทโย้ย ให้กลับมาฟื้นวิถีชีวิตไม่หลงใหลไปกับสังคมโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการแต่งตัวแบบไทโย้ย จึงได้ส่งเสริมเรื่องการทอผ้าย้อมคราม ฉะนั้น เป็นเรื่องดีที่เด็กและเยาวชนร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมโดย การใช้สื่อเป็นตัวดึงเด็ก เพื่อให้เด็กและเยาวชนท้องถิ่น เกิดความรัก และหวงแหนในอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรมของตนเอง เพื่อพัฒนา และแก้ไขปัญหาทางสังคมด้านเด็กและเยาวชน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนให้น่าอยู่และยั่งยืน
นายชนะศักดิ์ จุงอินทะ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการว่า สิ่งแรกที่ได้คือเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน การปรับตัวและจัดสรรเวลา ให้เป็น จึงถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ความรู้เกี่ยวกับการเป็นพิธีกรนักพูด รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ใช้คำพูดให้ถูกกับงาน การสอนวิธีทำสื่อ การเปิด-ปิดรายการ การตัดต่อ วีดีโอ เป็นการเรียนรู้ที่มีค่าเป็นอย่างมาก ผู้ใหญ่จะคอยให้คำแนะนำที่ไม่ใช่การหยิบยื่นหรือทำให้ แต่เด็กต้องจัดการกันเอง รู้จักการวางแผน วิธีการแก้ปัญหาเวลาลงพื้นที่ก็จะมีการช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาในกลุ่มแกนนำ ช่วยกันดึงจุดเด่นของพื้นที่ออกมา จากการลงพื้นที่อากาศอำนวยมีการทำผ้าย้อมคราม ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์และสืบสานไว้ เพราะจุดเด่นของตำบลคือผ้าย้อมคราม อีกทั้งมีประเพณีวัฒนธรรมเข้มแข็ง เช่น ประเพณีบุญเดือนหก ประเพณีแข่งไหลเรือไฟ แม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาแต่ชุมชนยังเกาะกลุ่มกันมาก เทคโนโลยีก็ไม่สามารถมาแทรกได้
ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมจะนำไปพัฒนาใน พื้นที่โดยเริ่มจากชุมชนของตัวเอง โดยจะดึงเด็กที่มีปัญหา และ ใช้เวลาว่างไม่เกิดประโยชน์มาร่วมกิจกรรม ครั้งแรกไม่มีใครอยาก เข้าร่วมกิจกรรมเพราะส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเรียน จึงต้องเน้นการเรียน เป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมีการเสนอกิจกรรมที่แปลกใหม่คือเรื่องการ ทำสื่อ ทำวีดีโอ เพราะกิจกรรมเดิมๆ ร้องเล่น เด็กโรงเรียนในเมืองไม่ค่อยอยากจะทำ แต่เมื่อได้มาเรียนรู้การเป็นนักข่าวเป็นพิธีกร จึงเป็นกิจกรรมที่ท้าทายและสนุก ภาคภูมิใจ ทุกคนก็ชอบ เกิดเป็น สายใยให้เยาวชนมาร่วมกันทำกิจกรรมมากขึ้น
การดึงเอาเด็กและเยาวชน มาเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมบนพื้นฐานความเป็นไทย ในการดำเนินชีวิตเพื่อไม่ให้ไหลไปตามกระแสวัฒนธรรมที่ ไม่เหมาะสม ถือว่าเป็นทางออกของการแก้ปัญหาได้อีกโสตหนึ่ง หากว่า โจทย์ปัญหาที่นำมาให้เด็กได้ทำนั้น เกิดผลสัมฤทธิ์ เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต