สร้างภูมิคุ้มกันใจ…คนเลี้ยงเดี่ยว จังหวัดสุรินทร์
ดึงภาคส่วนร่วมเรียนรู้และพัฒนา
หากถามว่าครอบครัวหมายถึงอะไร..หลายๆ คนจะนึกถึงการมีพ่อแม่ลูกอยู่กันพร้อมหน้า แต่ในปัจจุบันคำว่า “ครอบครัว” ไม่ได้ถูกจำกัดแย่แค่นั้น “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว” ถึงแม้ว่าจะมีแค่แม่กับลูก หรือลูกกับพ่อ แต่พวกเค้าก็นับว่าเป็นครอบครัวหนึ่งในสังคมไทย
และเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจกับสังคมในจังหวัดสุรินทร์เรื่องครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชนโดยการสนับสนุนจากแผนงานสุขภาวะครอบครัวสุขภาพชุมชนโดยการสนับสนุนจากแผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส.และมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จึงได้จัดงาน “สมัชชาครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวจังหวัดสุรินทร์” เพื่อเป็นแนวทางสำคัญที่จะนำไปสู่การช่วยเหลือและดูแลจากชุมชนให้กับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่ประสบปัญหา เพราะจากการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมาพบว่า พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวมีแนวโน้มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากสังคม และหากมีการสร้างความเข้าใจในระดับกว้างโดยรวมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้และพัฒนาเครือข่ายครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว จะนำไปสู่สังคมและครอบครัวที่มีสุขภาวะในที่สุด
คุณพรรณิภา อมตะตระกูล นักจิตโรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวว่า ในการทำงานกับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมา 3-4 ปี ซึ่งก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเองมองว่าเลี้ยงเดี่ยว ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากครอบครัวปกติอื่นๆ เพราะฉะนั้นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวก็ไม่ควรที่จะน้อยใจ หรือคิดว่าไม่ได้อะไรเพราะมันเป็นเชื้อโรคร้ายทำลายพลังใจของตัวเอง สิ่งที่ดีที่สุดคือตัวเอง เพราะองค์กรไม่ว่าจะเป็นทางสังคม ทางการเมืองเข้ามาช่วยเหลือแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ หากตัวเราไม่ทำความเข้าใจกับตัวเราเอง และเปิดรับสิ่งต่างๆ เข้ามา เพราะฉะนั้นเมื่อเราเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวแล้วเราจะทำอย่างไรเราจะวางเป้าหมายในการดำเนินชีวิตอย่างไร การเป็นเลี้ยงเดี่ยวไม่ใช่สิ่งด้อยค่าในสังคม เราควรเปิดตัวเปิดใจ ทำความเข้าใจกับตัวเอง เพราะเราคือคนสำคัญที่สุด เนื่องจากว่ามีต้นกล้าหลายต้นที่อยู่ในความดูแลของเรา แล้วเมื่อไรที่เราเป็นเลี้ยงเดี่ยวที่เข้มแข็ง เราก็จะสามารถเป็นพลังให้กับเลี้ยงเดี่ยวที่กำลังร้องไห้อยู่ เราสามารถที่จะช่วยเขาได้ทั้งหมด ขอให้รับรู้ไว้ว่าเราเป็นเลี้ยงเดี่ยวที่ไม่ได้อยู่อย่างเดียวดาย ไม่ได้อยู่คนเดียวเพียงลำพัง เรายังมีเพื่อนอยู่อีกเยอะมากที่พร้อมจะเป็นเพื่อนกับเรา ถ้าเรารักตัวเองให้คุณค่ากับตัวเอง การเลี้ยงเดี่ยวไม่ใช่อุปสรรค
“ส่วนน้องๆ ที่เป็นลูกที่อยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวก็ไม่ต้องน้อยใจ เพราะจากงานวิจัยพบว่ามีแค่ 30% ที่จะมีปัญหาสักหน่อย แต่อีก 70% ก็ใช้ชีวิตเหมือนกับเด็กทั่วๆ ไป ไม่ได้หมายความว่า เรามาจากครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวแล้วจะทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต มันขึ้นอยู่กับตัวเอง และที่สำคัญใน 70% มี 40% ที่เป็นลูกเลี้ยงเดี่ยวที่สุดยอดมาก เพราะเด็กๆเรียนรู้ที่จะผ่านวิกฤต ทำให้มีพลังที่จะช่วยตัวเอง สุดท้ายนี้อยากจะบอกว่าเดี่ยว เดี๋ยวนี้ไม่เดียวดาย แต่อยากจะขอให้ท่านนำตัวเองออกมาจากโลกเลี้ยงเดี่ยว และหาเพื่อนๆ ที่เลี้ยงเดี่ยวด้วยกัน แล้วเปิดตัวเปิดใจเข้าหากัน แล้วจะมีสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตแน่นอน” คุณพรรณิภา กล่าว
ทางด้าน คุณฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้ประสานงานโครงการครอบครัวในสภาวะยากลำบาก มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า บทบาทของมูลนิธิฯ คือการสร้างให้เกิดเครือข่ายของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ทั้งในระดับประเทศ ภาค จังหวัด อำเภอ หรือแม้กระทั่งชุมชน เพราะเชื่อว่าการมีเครือข่ายจะมีความเข้มแข็งเพราะบางครั้งเลี้ยงเดี่ยวมีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือก็ไม่รู้จะไปปรึกษาที่ไหน ไม่รู้ช่องทางของรัฐ เพราะฉะนั้นถ้าเราสร้างเครือข่ายของเราให้เข้มแข็ง ครอบครัวหรือชุมชนเหล่านี้ก็จะช่วยให้เลี้ยงเดี่ยวฝ่าวิกฤตไปได้ และอีกสิ่งเรากำลังผลักดันให้เกิดการก่อตั้งสภาบันเพื่อพัฒนาครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งเราจะดูเรื่องสวัสดิการ ทุนการศึกษาลูก กองทุนการประกอบอาชีพ
และสุดท้าย คุณคำรณ สิงโตทอง กล่าวว่า ในฐานของมูลนิธิพัฒนาอีสาน มีวิสัยทัศน์เป็นองค์กรนำในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ผู้ที่ด้อยโอกาสต่างๆ ส่วนหนึ่งที่จะช่วยได้ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวตามลักษณะงานของมูลนิธิ คือ จัดกระบวนการเรียนรู้ “ชี้หลัก ชักชวน ปลุกใจ ให้สู้” ชี้หลักหมายถึง ชี้ทางในการดำเนินชีวิตสู่เป้าหมายหลักที่ชีวิตเราต้องการ ชักชวนกันมาสร้างสิ่งที่ดีเพื่อนำไปสู่เป้าหมายชีวิตที่ดีของเราให้ได้ แล้วนำไปสู่การปลุกใจให้สู้ สู้ด้วยใจเรา สู้เพื่อชนะใจตัวเอง สู้อย่างมีสติให้คุณค่ากับตัวเอง
สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-2298-0500 ต่อ 1222
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
Update 22-09-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์