สร้างภูมิคุ้มกันลดความรุนแรงในยุคออนไลน์
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
แฟ้มภาพ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต เตือนสังคมให้ระวังตัว การกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่นึกกว่าการโพสต์ให้เห็นสถานการณ์รุนแรงต่างๆ นั้น เป็นการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น การจะโพสต์จะแชร์สิ่งใดๆ ผ่านโลกโซเชียลจึงจำเป็นต้องมีสติให้มาก
น.ต.นพ.บุณเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าจากการหลังไหลของข้อมูลข่าวสารที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและเผยแพร่ออกไปได้อย่างรวดเร็วผ่านโลกโซเชียล มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดสร้างความขัดแย้ง ความรุนแรง ความหวาดระแวงและความตื่นตระหนกให้แก่สังคมตลอดจนสร้างบาดแผลทางจิตในให้เกิดขึ้นได้ อาทิ การโพสต์คลิปความรุนแรงรูปแบบต่างๆ บนโลกโซเชียลที่การควบคุมกำกับการเข้าถึงสื่อทำได้ยาก เด็กและเยาวชนจึงเข้าถึงคลิปความรุนแรงได้ง่ายผลกระทบที่ตามมาจึงมากตามไปด้วย
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า อยากเตือนสังคมให้ระวังตัว การกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่นึกกว่าการโพสต์ให้เห็นสถานการณ์รุนแรงต่างๆ นั้น เป็นการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น การจะโพสต์จะแชร์สิ่งใดๆ ผ่านโลกโซเชียลจึงจำเป็นต้องมีสติให้มาก
สำหรับแนวทางลดความรุนแรงต่างๆ ในสังคม อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะว่าครอบครัวมีส่วนสำคัญมากที่สุด เพราะพื้นฐานพฤติกรรมของเด็กมาจากครอบครัว ซึ่งครอบครัวอาจกระทำความรุนแรงกับเด็กโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นคือความรุนแรงที่จะส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว ได้แก่ ความรุนแรงด้านร่างกาย ที่เห็นได้ชัดจากการตบตี หรือการเตะ ถ้าเด็กถูกเลี้ยงด้วยความรุนแรง โตขึ้นก็จะใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา
ความรุนแรงด้านเพศ คือ การละเมิดทางเพศ ที่พบเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ความรุนแรงด้านวาจาซึ่งครอบครัวมักไม่ทราบว่าเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่ง ที่ได้กระทำทุกวัน ส่งผลต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กในอนาคตได้ ทั้งการตำหนิ ต่อว่าเปรียบเทียบ หรือถูกบ่นตลอดเวลา ที่เป็นการตอกย้ำความแย่ ความไม่ดีของเด็ก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของความดื้อ เป็นวงจรการสร้างเด็กเกเรในอนาคต
และ ความรุนแรงทางอารมณ์จากการทอดทิ้ง ซึ่งเป็นอีกข้อที่สำคัญมากที่ครอบครัวอาจคิดไม่ถึง เด็กที่ถูกละเลยหรือถูกทอดทิ้งจะคิดถึงคนอื่นไม่เป็น จึงสามารถใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นโดยไม่คิดว่าผู้อื่นจะเป็นอย่างไร หากรู้สึกว่าตัวเองหรือคนรอบข้างชอบโพสต์ชอบดูคลิปความรุนแรง แล้วเครียด ไม่รู้จะทำอย่างไร แนะนำให้โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง