สร้างพื้นที่ปลอดภัย-ฟังกันมากขึ้น สร้างสังคมไร้ซึมเศร้า ด้วยการสื่อสารเชิงบวก

ข้อมูลจากงาน: งาน Better Mind Better Bangkok ณ สามย่านมิตรทาวน์ 8 ต.ค. 2566

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                  ดูเหมือนความสุขของคนไทยจะมีน้อยลงทุกที โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในไทยมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนผู้ป่วยทางจิตเวช เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564 ขณะที่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน ความเปราะบางที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่ควรมองผ่าน

                  ดังนั้น  การมีความหวังในการใช้ชีวิต การมองโลกแง่ดีจะทำให้เราสามารถไต่ระดับความสุขของชีวิตได้อย่างไร ผ่านการรู้จักนิยามของ “การสื่อสารเชิงบวก” ในเสวนา Nonviolent Communication การสื่อสารเชิงบวก ในงาน “Better Mind Better Bangkok” ซึ่งสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (Thailand Institute for Mental Health Sustainability : TIMS) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก 10 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา

                  “สิ่งที่โลกเราทุกวันนี้ขาดกัน คือ Empathy หรือความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน เราใช้ชีวิตท่ามกลางความคุ้นชินความรุนแรง เสียจนลืมไปว่าการเอาใจเขามาใส่ใจ สิ่งนี้เริ่มขาดหายไปทุกๆ ที”

                  ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เอ่ยถึงประเด็นปัญหาที่ส่งผลให้คนไม่มีความสุขว่า เกิดจากการขาด mindfulness หรือการมีสติ และ compassion หรือความเห็นอกเห็นใจกัน

                  โดยกล่าวว่า สสส.ทำงานบนพื้นฐานของจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) องค์ประกอบแรก คือความสุข มุ่งเน้นพัฒนาสร้างเสริมให้ชีวิตพวกรามีการใช้ชีวิตที่มีความสุขโดยไม่ทำร้ายคนอื่น แสดงออกอย่างเป็นมิตร ใส่ใจ มี compassion หรือความเห็นอกเห็นใจกันและกัน

                  “ในชีวิตประจำวันสิ่งที่สำคัญคือการสื่อสาร ซึ่งก่อนที่เราแสดงออกสิ่งใดออกไป เราสามารถกลับมาสื่อสารทบทวนตัวเองก่อนว่าสิ่งที่เราจะกระทำนั้นได้ทำร้ายใครบ้าง”

                  ดร.ชาติวุฒิ กล่าวเสริมว่าอีกสิ่งสำคัญคือการมี mindfulness หรือสติ ทำให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันใจ ให้คนเราพร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่ดีต่อใจไม่ว่ารูปแบบไหนที่มากระทบ

                  “การมี Mindfulness สำคัญมากที่จะทำให้เราไม่ทำร้ายใคร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องฝึก การฝึกทำให้เราแกร่งมากขึ้น เราฝึกออกกำลังกายให้แข็งแรง เราก็ต้องฝึกออกกำลังใจ และฝึกเป็นระยะ โดยเริ่มกับเรื่องราวง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน”

                  ด้าน ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  กล่าวว่า กทม.มองเห็นความสำคัญปัญหาสุขภาพจิต และมีความพยายามเปิดพื้นที่ สาธารณะ หรือแพลตฟอร์ม ที่จะทำให้คนฟังกันมากขึ้น

                  สังคมไทยมักเห็นปัญหาสุขภาพจิตตอนมีปัญหา แม้ภาครัฐและ กทม.จะพยายามเสริมสร้างบุคลากร และสภาพแวดล้อมช่วยดูแลเยียวยารักษาอย่างจริงจัง แต่ยังคงไม่เพียงพอและทันต่อสถานการณ์ การทำงานอีกด้านหนึ่งจึงมุ่งให้ความสำคัญกับการมี “ทัศนคติเชิงบวก” และสื่อสารเชิงบวกที่จะช่วยจรรโลงสังคมไทยให้เดินไปในทิศทางสร้างสรรค์

                  “ปัจจุบัน กทม. มีโรงพยาบาลบริการด้านสุขภาพจิต 12 แห่ง มีจิตแพทย์ 23 คน มีนักจิตวิทยาแค่หลักสิบไม่ถึงร้อย แต่ถ้าเราสามารถทำให้คนทุกคนฟังกันให้มากขึ้น ฟังกันให้เป็น ไม่ตัดสินตั้งแต่นาทีแรกที่ได้ยินเข้าหูแล้วรู้สึกว่าไม่ชอบ เพื่อนข้าง ๆ เราก็เป็นคนที่เราคุยกันได้แล้ว

                  นอกเหนือจากงานสาธารณะสุข แพทย์ที่ กทม.พยายามเชื่อมร้อยกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมมือเป็นเครือข่าย ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่มีความสุข หรือมีพื้นที่ให้ยิ้ม หัวเราะพูดคุยกันบ้าง

                  “อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่ตระหนักดีว่า การจะแก้ปัญหาสุขภาพจิตต้องไม่มองแค่เรื่องจิตใจ แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจครัวเรือน สิ่งแวดล้อมด้วย แต่ทุกปัญหาย่อมมีแสงสว่าง มีทางออกที่ปลายอุโมงค์เสมอ เช่นเดียวกับความเจ็บปวดในใจของเราทุกคน ก็สามารถแก้ได้ไม่ยากขอเพียงการสื่อสารเชิงบวก”

                  เช่นเดียวกับ เขื่อน ภัทรดนัย ศรีสุวรรณ อดีตบอยแบนด์ K-OTIC ที่เคยเผชิญกระแสสังคมด้านลบ และโดน cyber bulling  แต่ด้วยการค้นพบมุมมองพลังบวกทำให้เขาสามารถ และยังผันตัวเป็นนักบำบัดจิตวิทยาแก่เพื่อน ๆ ในสังคม

                  “สิ่งที่คน ๆ หนึ่งส่งออกไป มักส่งผลต่อคนอื่นเสมอ แน่นอน หากเราไม่อยากเป็นคนถูกทำร้าย เราต้องไม่ทำก่อน” เขาเปิดใจ

                  เขื่อนมองว่าสังคมเรามีความเข้าใจยอมรับเรื่องความแตกต่างและพยายามเข้าใจกันน้อยเกินไป ทำให้ทุกวันนี้คนเราไม่กล้าที่จะแสดงความรู้สึก หรือความเป็นตัวตนแท้จริง แต่ต้องทำตัวเพื่อให้เข้ากับคนอื่น หรือให้คนอื่นชอบ

                  “เพราะเราอยู่ในสังคมที่ทุกคนกดไลค์เรา ต้องทำตัวให้คนชม เราต้องเปลี่ยนตัวเองให้คนอื่นชอบ หากในความเป็นจริงนั้น เป็นเรื่องธรรมชาติเสมอที่เราทุกคนจะมีคนไม่ชอบเรา”

เขาอธิบายว่าทุกคนมีความแตกต่างหลากหลาย ขนาดลายมือเรายังไม่เหมือนกัน มีหน้าตาและหลายอย่างไม่เหมือนกัน ดังนั้นความคิดเราสามารถแตกต่างได้

                  “ซึ่งถ้าเราคิดต่าง แต่เราไม่เบียดเบียนคนอื่น แล้วโดนคนเกลียด ไม่ชอบหรือโดนแซะบ้าง บางทีก็ต้องมีภูมิคุ้มกันตรงนี้ เพื่อที่เราจะอยู่ในโลกโซเชียลหรือในสังคมตรงนี้ต่อไป”

                  “เราห้ามปากใครไม่ได้ เราไม่สามารถบังคับความรู้สึกคนอื่น หรือแม้แต่ความรู้สึกตัวเองเราก็ห้ามไม่ได้ แต่เราควบคุมการกระทำได้ที่จะไม่ส่งบาดแผลต่อใครได้ เคยมีพี่บอกว่าไม่ชอบเขื่อนเลย เราเลยถามว่าที่พี่ไม่ชอบหนู แล้วพี่รู้จักหนูดีแล้วหรือ” เขาเสนออีกมุมมอง

                  ดร.ชาติวุฒิกล่าวเสริมว่า สิ่งที่เขื่อนเป็นคือตัวอย่างของการมี mindfulness หรือมีสติ ซึ่งทำให้คนเราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราพร้อมรับมือกับความไม่ค่อยดี ไม่ว่าจะมารูปแบบไหน

                  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ยังเสนอความเห็นว่า องค์ประกอบที่จะทำให้ “ใจ” เราแข็งแกร่ง ประกอบด้วยกลไกสองเรื่อง คือ หนึ่ง การปรับภายในใจเราเอง ฝึกให้จิตใจเราเข้มแข็งมีภูมิคุ้มกันพอที่จะรับมือกับปัจจัยภายนอกได้ อีกกลไกคือการพัฒนาระบบนิเวศน์การใช้ชีวิตของคนเราให้เอื้อต่อการดูแลใจ เช่นการมีเพื่อนหรือใครที่เราไว้ใจเชื่อมั่น สามารถร้องไห้ระบายได้

                  ในแง่กลไกทางสังคม “คน” เป็นตัวช่วยสำคัญ คือเราควรมีคนที่ทำให้เรารู้สึกมั่นใจ เชื่อใจ ไม่ตัดสิน มีทักษะการฟังอย่างตั้งใจหรือ deep listening

                  “การใช้กลไกคนรอบข้างสำคัญมาก ที่ผ่านมา สสส. จึงทำงานกับสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย กับมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างคนที่มีพลังบวก คนที่รู้สึกว่าเขาเป็นที่พึ่งพาได้ และยังทำงานกับกรมสุขภาพจิต เพื่อเพิ่มคนที่ช่วยเป็นที่ปรึกษารับฟังได้ การช่วยให้คนทบทวนอารมณ์ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช่คุ้นชินว่าถ้าเขารุนแรงมา เรารุนแรงกลับ”

                  แต่การทำงานเพื่อพัฒนา “คน” อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ดร.ชาติวุฒิมองว่า การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่ส่งเสริมความรุนแรง การพัฒนาเป็นสังคมที่มีความเข้าอกเข้าใจกัน ยังเป็นอีกกลไกที่ช่วยยกระดับสังคมคุณภาพ โดยหากสื่อสารมวลชนและสื่อโซเชียล สามารถส่งเสริม สร้างบรรยากาศให้คนในสังคมรู้สึกว่าการมี empathy การดูแลใส่ใจกันเป็นมาตรฐานปกติในสังคม สร้างสังคมการสื่อสารทางบวกมาก ๆ จะทำให้คนในสังคมดูแลกันเองได้ และมีวัคซีนภูมิคุ้มกัน

                  ด้านภัทรดนัย เสริมว่า ทุกคนควรมีพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง โดยพื้นที่ปลอดภัยคือ หนึ่ง พื้นที่ที่มีคนที่รับฟังเราโดยเขาไม่ตัดสิน

                  “เขาไม่ต้องให้คำแนะนำเราก็ได้ แค่เขารู้สึกว่าตั้งใจฟังก็พอ ไม่ต้องเปลี่ยนเขาหรือคิดว่าจะตอบอย่างไรให้ดูดีที่สุด หรือแม้แต่หาทางออกให้ เพราะคุณไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต อย่างไรก็ดี อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ในทุกความรู้สึกทุกข์ใจที่เข้ามา สักพักก็จะออกไป ไม่มีความรู้สึกไหนที่อยู่กับเราไปตลอด แล้วเดี๋ยวเขาก็มาใหม่ เราอย่าไปต้านเขามาก แต่ต้องฝึกที่จะอยู่ร่วมกัน” เขื่อน ภัทรดนัยเอ่ย

                  ดร.ชาติวุฒิเสริมว่า ในวันที่เราอ่อนล้า มีวิธีกระบวนการเชิงเยียวยามากมายที่ทำได้ ขอเพียงแต่เราหา “หนทาง” ที่เหมาะกับตัวเอง เช่น การหาพื้นที่สื่อสารรับฟัง หรือในวันที่เราโหยหาการกอดคนอื่น อยากให้เราเริ่มกอดตัวเองก่อน หรือแม้แต่วิธีง่าย ๆ คือการนอน

                  “องค์การอนามัยโลกเคยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบรรเทาเรื่องสุขภาพจิตไว้หลายข้อมาก หนึ่งในนั้นคือการนอน เมื่อใจไม่ฟู ให้นอนให้ได้แปดชั่วโมง หรือการออกกำลังกาย

                  “โซเชียลมีเดีย” อาจเป็นอีกช่องทางที่หลายคนใช้เพื่อเป็นทางออก บรรเทาความทุกข์และซึมเศร้าในจิตใจหากเพียงเราทุกคนรู้จัก “ใช้ให้เป็น”

                  ชนิดา คล้ายพันธุ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ ติ๊กต็อก (TikTok) ประเทศไทย บอกเล่าถึงบทบาทการเป็นพื้นที่ปลอบประโลมทางใจให้คนยุคปัจจุบันว่า

                  “ติ๊กต่อกคือ Entertainment Platform ที่คนเข้ามาเสพเพื่อความเพลิดเพลินแต่เชื่อไหมว่าที่ที่สนุกสนานที่สุด ก็มีคนเศร้าที่สุดเข้ามาไม่น้อย เพราะพอเขาเครียดก็อยากหาอะไรบันเทิงเริงใจ ช่วย heal จิตใจเขาได้ชั่วขณะ”

                  ปัจจุบันติ๊กต่อกประเทศไทย จึงมองหาพันธมิตรที่มีพันธกิจในการดูแลด้านนี้ และพยามเสริมมาตรการในการดูแลผู้ใช้กลุ่มนี้มากขึ้น เช่นหากมีการค้นหาคำว่า ฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง ทุกคนจะไม่พบหรือไม่มีเนื้อหาประเภทนี้ ในติ๊กต่อก

                  “สิ่งที่ผู้ใช้จะได้คำตอบคือ เราจะลิงค์ตรงไปที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต และเครือข่ายด้านสุขภาพ อย่างสมาคมสมาริตันฯ รวมถึงมีคำแนะนำ ความรู้ต่าง ๆ  มองว่าบางครั้ง เราไม่ได้ต้องคนแก้ปัญหา แต่เราต้องการคนฟัง ซึ่งสิ่งที่ติ๊กต่อกมุ่งมั่นส่งเสริมคือ คือมีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก อย่างไรก็ดี ติ๊กต่อกมีหลักเกณฑ์ชุมชนว่าอะไรทำได้ไม่ได้ เช่น บุลลี่  การมี hate speech ทางแพล็ตฟอร์มมีมาตรการจัดการเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ลดการมองเห็นไปถึงการจัดการโดยมาตรการเด็ดขาด ในกระบวนการกลั่นกรองเรามีการใช้ machine learning มีหลายระดับในการตัดสิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code