สร้างทัศนคติใหม่หนุนพกถุงยาง
แฟ้มภาพ
“สธ.” วางยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัย มั่นใจพก พร้อมสร้างทัศนคติใหม่ ถือเป็นอุปกรณ์สุขในชีวิตประจำวัน ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) พร้อมด้วย นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมแถลงข่าว เรื่อง ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ พ.ศ.2558–2562 “Public-Private Partnership เพื่อรักปลอดภัย” โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง คร. กรมอนามัย กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย พบว่าในปี 2557 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 445,504 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,816 คน โดยร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อ รายใหม่ เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน โดยที่ผ่านมามีความท้าทายหลายประการ ทำให้ประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการส่งเสริมให้ประชากร ซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ มีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเห็นได้จากอัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กลับมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในเยาวชน
นพ.ภานุมาศ กล่าวว่า กรมควบคุมโรค โดยความร่วมมือของกรมอนามัย กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ(UNFPA) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ พ.ศ.2558-2562” เพื่อลดช่องว่างของการทำงานและส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งมี 5 แนวทางในการทำงาน ดังนี้ 1.“พกได้ มั่นใจ” ยอมรับและลดอคติ 2.“หาง่าย ใช้เป็น” เข้าถึงสะดวก ใช้ได้ถูกวิธี 3.“ทุกชิ้น มีคุณภาพ” ควบคุมการผลิตได้มาตรฐาน 4.“รัฐนำ ทุกฝ่ายหนุน” สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ถุงยางอนามัย และ 5.“เร่งรัด วัดผล” เร่งประเมินผลเพื่อมุ่งความสำเร็จ
“สิ่งสำคัญจะเน้นขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม รวมทั้ง นโยบาย กฎหมาย หรือกฎระเบียบ ตามแนวคิด รัฐนำ ทุกฝ่ายหนุน โดยมุ่งเน้นสร้างความตระหนักให้ประชาชนในประเทศไทย มีเจตคติว่าถุงยางอนามัย และถุงอนามัยสตรี เป็นอุปกรณ์สุขอนามัยที่ใช้ในการดำเนินชีวิตตามปกติ การส่งเสริมสุขอนามัยทางเพศที่ดี และการป้องกันปัญหาสุขภาพหลายด้านพร้อมๆ กัน เช่น ป้องกันการตั้งครรภ์ ป้องกันโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งลดความเสี่ยงของมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งทวารหนัก” นพ.ภานุมาศกล่าว
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นและอายุน้อยลงเรื่อยๆ จึงเกิดปัญหาการตั้งครรภ์ตามมา โดยในปี 2557 วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตร 115,491 ราย เฉลี่ยวันละ 316 คน โดยวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตร 3,213 ราย เฉลี่ยวันละ 9 คน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2543 จะเห็นได้ว่าปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติที่ต้องแก้ไขโดยความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน
ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ