สร้างทักษะเยาวชน แก้ปัญหาท้องไม่พร้อม
ที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาฬสินธุ์
แฟ้มภาพ
การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันดูแล พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อม
ที่ห้องประชุมปัญญานุสติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ คณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้ร่วมประชุมหารือเพื่อวางแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565 ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น โดยมีนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุม ส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นอย่างบูรณาการ รวมไปถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ มุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมีพื้นที่เป็นฐานและประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้มีรูปแบบการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ ในส่วนของอัตราการคลอดอายุ 10-14 ปี ต่อประชากรช่วงวัยเดียวกันพันคน ปี 2564 ร้อยละ 0.55 โดยตั้งเป้าในปี 2565 ไม่เกิน ร้อยละ 0.9 ด้านการคลอดในหญิงอายุ 15-19 ปี ต่อประชากรพันคนในช่วงวัยเดียวกัน ปี 2564 ร้อยละ 17.22 เกณฑ์เป้าหมายในปี 2565 ไม่เกินร้อยละ 25 และอัตราการตั้งครรภ์ซ้ำในหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี ในปี 2564 ร้อยละ 16.55 เกณฑ์เป้าหมายปี 2565 ไม่เกินร้อยละ 13.0 ซึ่งความจำเป็นเร่งด่วนคือต้องสร้างความเข้าใจ ให้วัยรุ่นมีความรู้ มีทักษะในการปฏิเสธ และเรียนรู้ด้านเพศศึกษาเพื่อความเข้าใจในวัยเจริญพันธุ์ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยปัจจุบันได้มีการสร้างความรู้รอบด้านสุขภาพวัยรุ่น ผ่าน แอปพลิเคชัน ไลน์ Teenage Digital Platform (Line official Teen Club) และการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาในการเปิดภาคเรียน กับกิจกรรม Thai Stop Covid 19 Plus
นายศุภศิษย์ กล่าวว่า การดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปีงบประมาณ 2565 ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ได้กำหนดยุทธศาสตร์ 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย การพัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพและมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม การส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการในการเลี้ยงดู สร้างสัมพันธภาพและการสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น การพัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร การพัฒนาระบบการช่วยเหลือดูแล การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธ์ และการจัดสวัสดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น และการส่งเสริมการบูรณาการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้