สร้างจิตสำนึก ลดปัญหาแอลกอฮอล์
ป.ป.ส. ร่วมกับ สคล. จัดประชุม “IOGT International 68th World Congress 2014” ครั้งที่ 68 ภายใต้แนวคิด “Alcohol in All Policies” หรือปัญหาแอลกอฮอล์ในทุกนโยบาย
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จากการสนับสนุนของ สสส. และองค์กรสมาชิก IOGT international แถลงข่าว เรื่องการจัดประชุม “IOGT International 68th World Congress 2014” ครั้งที่ 68 ถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย และเป็นประชุมใหญ่ในภูมิภาคเอเชียของ IOGT ภายใต้แนวคิด “Alcohol in All Policies” หรือปัญหาแอลกอฮอล์ในทุกนโยบาย ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27-31 ต.ค. 2557
ในครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานและตั้งเป้าหมายไว้ว่า ด้วยความที่ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีนโยบายแอลกอฮอล์ที่เข้มแข็ง แต่จุดอ่อนสำคัญคือ การละเมิดกฎหมายของผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์ ทำให้ไทยตั้งเป้าที่จะร่วมมือพัฒนาสังคมให้ปลอดภัยจากความมึนเมา อันมีผลมาจากสุราและสารเสพติดอย่างจริงจัง อีกทั้งยังมีการยื่นข้อเสนอให้กับรัฐบาลในประเทศต่างๆ ตระหนักและทราบถึงปัญหาจากแอลกอฮอล์ และเพิ่มมาตรการรวมถึงนโยบายที่จะควบคุมปัญหาจากแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น
หลังจากองค์การอนามัยโลก ได้ออกรายงานชื่อ Global Status report on alcohol and health 2014 พบว่า ประเทศไทยมีสถิติดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ 7.1 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/คน/ปี ถือเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากประเทศลาว แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่ามีค่าเฉลี่ยการดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าคนทั้งโลก ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.2 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/คน/ปี และทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์มากถึง 3.3 ล้านคน หรือ 5.9 เปอเซ็นต์ของการตายทั้งหมด
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการ สคล. กล่าวว่า เอเชียยังมีแนวโน้มการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ทวีปอื่นๆ มีแนวโน้มที่ลดลง เอเชียจึงถือเป็นเป้าหมายที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งใจลงทุนทำการตลาดมากขึ้น รัฐบาลของแต่ละประเทศในเอเชียจึงต้องมีมาตรการการป้องกันปัญหา จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดซึ่งอาจเกิดมากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้การเปิดการค้าเสรีของอาเซียนถือเป็นปัญหาใหญ่อีกประเด็นหนึ่ง เนื่องจากรัฐบาลอนุญาตให้แอลกอฮอล์สามารถซื้อขายได้อย่างเสรี ซึ่งนอกจากจะขัดกับหลักการค้าที่ต้องคำนึงถึงศีลธรรมและความสงบเรียบร้อยของสังคมแล้ว ผู้ประกอบการจะอาศัยเป็นช่องทาง ทำการตลาดแอลกอฮอล์ให้มากขึ้นอีกในประเทศ
สำหรับประเทศไทยได้มีนโยบายควบคุมแอลกอฮอล์ต่างๆ ออกมาควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ อาทิการใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2546, ยุทธศาสตร์นโยบายควบคุมแอลกอฮอล์ระดับชาติปี 2547 รวมทั้งยังมีมาตรการใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น การห้ามดื่มบนรถขณะอยู่บนทาง การห้ามขายในวันสำคัญทางพุทธศาสนา การห้ามดื่มห้ามขายในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งมาตรการรณรงค์ทางสังคม เช่นงดเหล้าเข้าพรรษา ดื่มไม่ขับ งานประเพณีงานบุญปลอดเหล้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีที่สุดที่จะทำให้ปัญหาจากแอลกอฮอล์หมดไปคือ การมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อกฎหมายของผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์ รวมทั้งประชาชนควรตระหนักถึงผลกระทบจากแอลกอฮอล์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนได้ในมุมกว้างหากไม่ดื่มอย่างระมัดระวัง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต