สร้างคุณภาพชีวิต เติมเต็มสิทธิ์ เเรงงานเเพลตฟอร์ม

เรื่องโดย  ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก เวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อทำรายงานการวิจัยข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานแพลตฟอร์ม (Platform worker) ผลักดันให้เกิดกฎหมายและนโยบายคุ้มครอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างหลักประกันสุขภาพให้แรงงานนอกระบบ ที่ทำอาชีพอิสระรูปแบบออนไลน์ สู่การมีอาชีพที่เป็นธรรมยั่งยืน


ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ


สร้างคุณภาพชีวิต เติมเต็มสิทธิ์ เเรงงานเเพลตฟอร์ม thaihealth


“ช่วงนี้รายได้ไม่แน่นอน บางวันได้น้อย บางวันแทบไม่ได้เลย คนส่งอาหารเยอะขึ้น แต่กำลังซื้อลูกค้าน้อยลง”


“ทำงานแบบนี้ ไม่มีหลักประกันความปลอดภัย หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง เจ็บเอง ก็ต้องจ่ายเอง”


“ชีวิตแขวนอยู่บนความเสี่ยง ออเดอร์ก็ต้องส่ง ต้องทำเวลาให้ทัน อุบัติเหตุก็ต้องระวัง เราใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงทั้งหมด ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีกิน”


เสียงสะท้อนความในใจจากกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มหลากหลายอาชีพ ทั้งไรเดอร์ส่งอาหาร แม่บ้านรับจ้างผ่านแพแอปพลิเคชันออนไลน์ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง บนชีวิตที่ต้องสู้กับความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา ทั้งเรื่องรายได้ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิต ต้องยอมรับว่าธุรกิจแพลตฟอร์มเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนทั่วโลกไปอย่างสิ้นเชิง แต่รู้หรือไม่ว่าธุรกิจเหล่านี้จะขับเคลื่อนไปได้ต้องอาศัยแรงงานนับหมื่นที่ยอมแลกเวลาเพื่อความฝัน เพียงแค่หวังว่าชีวิตจะดีขึ้น มีเงินใช้จ่าย มีรายได้ เลี้ยงดูครอบครัว


 


สร้างคุณภาพชีวิต เติมเต็มสิทธิ์ เเรงงานเเพลตฟอร์ม thaihealth


“แรงงานแพลตฟอร์ม” คืออะไร หลายคนอาจยังไม่ค่อยคุ้นชิน หรือเคยได้ยินคำนี้มากนัก ในโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการจ้างงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ กับธุรกิจบริการแทบจะครบทุกประเภทเลยก็ว่าได้ เพียงแค่กดปุ่มสั่งซื้อ กดปุ่มจ่ายเงิน ก็มีคนนำอาหาร หรือสิ่งของ มาส่งให้ถึงหน้าบ้าน ยุ่งแค่ไหน ไม่มีเวลาดูแลบ้าน แค่จ้างงานผ่านออนไลน์ ก็มีแม่บ้านมาให้บริการทำความสะอาดถึงที่ ใช้ชีวิตง่ายแค่ปลายนิ้ว แต่รู้หรือไม่ ว่าแรงงานเหล่านี้ ต้องทำงานอยู่บนความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ที่ไม่อาจคาดคะเนได้เลย


 


สร้างคุณภาพชีวิต เติมเต็มสิทธิ์ เเรงงานเเพลตฟอร์ม thaihealth


แรงงานแพลตฟอร์ม เป็นกลุ่มแรงงานที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองชัดเจนและยังเข้าไม่ถึงสิทธิบริการด้านสุขภาพอย่างที่ควรจะได้รับ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานนอกระบบผันตัวมาเป็นแรงงานแพลตฟอร์มมากขึ้น นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ สสส. เห็นถึงความสำคัญของสุขภาวะแรงงานแพลตฟอร์ม จึงได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และภาคีเครือข่ายผลักดัน ขับเคลื่อนนโยบาย ให้เกิดเป็นหลักประกันทางสังคมและสุขภาพที่เป็นธรรมต่อแรงงานแพลตฟอร์มทุกคน ด้วยการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ เทียบเท่ากับแรงงานในระบบ


 


สร้างคุณภาพชีวิต เติมเต็มสิทธิ์ เเรงงานเเพลตฟอร์ม thaihealth


นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งเน้นเรื่องสุขภาวะของแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ อย่างที่ทราบดีว่าแรงงานแพลตฟอร์มมีความเสี่ยงจากการทำงานนานัปการ ทั้งความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ สสส. อยากให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งความปลอดภัยในการทำงานจะเกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการเข้ามาสนับสนุน


“ในปัจจุบันเมื่อโลกเปลี่ยนไป อาชีพต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย งานวิชาการชิ้นนี้มีความสำคัญมาก สสส. และกระทรวงแรงงานมีเป้าหมายเดียวกันที่จะทำให้เกิดหลักประกันทางสังคมและทางสุขภาพกับกลุ่มอาชีพนี้ ในส่วนของ สสส. เราพยายามออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย มาตรการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์ม อย่างน้อยให้เขาได้มีสิทธิพื้นฐาน เข้าถึงบริการสุขภาพและสังคมที่จำเป็นและเพียงพอ เหมาะสมกับกลุ่มอาชีพแรงงานแพลตฟอร์ม อาชีพที่เกิดขึ้นใหม่นี้” นางภรณี กล่าว


 


สร้างคุณภาพชีวิต เติมเต็มสิทธิ์ เเรงงานเเพลตฟอร์ม thaihealth


ด้าน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัย โครงการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงานแพลตฟอร์ม (Platform Worker) กล่าวว่า “แรงงานแพลตฟอร์มจำนวนมากทำงานอยู่บนความเสี่ยง ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีกฎหมายคุ้มครองด้านสิทธิและหลักประกันทางสุขภาพ การมีงานวิจัยที่มีน้ำหนักและเชื่อถือได้จะช่วยผลักดันให้สิทธิสวัสดิการด้านต่าง ๆ ที่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำข้อสรุป เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นธรรมกับแรงงานแพลตฟอร์มต่อไป” ผศ.ดร.ธานี กล่าว


 


สร้างคุณภาพชีวิต เติมเต็มสิทธิ์ เเรงงานเเพลตฟอร์ม thaihealth


จากการศึกษาวิจัยจึงเกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายใน 3 ประเด็นสำคัญ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับแรงงานแพลตฟอร์ม ดังนี้


1. งานที่เป็นธรรม (Fair work) ผลักดันแนวทางการบังคับหรือทำสัญญาที่ชัดเจนระหว่างผู้ประกอบการแพลตฟอร์มกับแรงงานแพลตฟอร์ม


1.1 กำหนดและเผยแพร่เกณฑ์มาตรฐานของงานที่เป็นธรรม


1.2 ส่งเสริมการให้ความรู้ทางการทำงานและการเงิน


2. ผลตอบแทนที่เป็นธรรม (Fair Reward) กำหนดและเผยแพร่เกณฑ์มาตรฐานของค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นกลาง โดยคิดเงินตามหลักสากลเพื่อประกันรายได้


2.1 จัดตั้งกองทุนสวัสดิการคนทำงานแพลตฟอร์ม


2.2 กำหนดให้มีมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำในรายชั่วโมงเป็นทางเลือกเพิ่มเติมจากการกำหนดรายวัน


2.3 ในระยะยาว ควรมีมาตรการปกป้อง คุ้มครองและดูแลคนทำงานแพลตฟอร์ม


3. การแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Competition) ส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องการทำงานและทำเงิน (Operational and Financial Literacy) กับแรงงานแพลตฟอร์ม เพื่อให้รู้วิธีการออมเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยง


3.1 ส่งเสริมธรรมาภิบาลดิจิทัลในการทำงานแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสของข้อมูล


3.2 ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่มีโอกาสเข้ามาแข่งขันในตลาดแพลตฟอร์มอย่างเป็นธรรม


 


สร้างคุณภาพชีวิต เติมเต็มสิทธิ์ เเรงงานเเพลตฟอร์ม thaihealth


พี่น้องแรงงานทุกคนนับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่ในขณะเดียวกันแรงงานทุกคนต้องได้รับสิทธิ การคุ้มครอง และหลักประกันทางชีวิตและสังคมที่เป็นธรรมด้วยสสส. และภาคีเครือข่ายมุ่งสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานทุกคนในสังคมไทยอย่างเท่าเทียมกัน ผ่านการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ความปลอดภัย ให้ทุกคนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ที่กลุ่มแรงงานควรจะได้รับ เพราะเราเชื่อว่า ‘งานจะมีคุณภาพและสร้างรายได้มหาศาลได้นั้น กลุ่มผู้ใช้แรงงานต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย’


 

Shares:
QR Code :
QR Code