สร้างความเข้าใจเยาวชนผ่าน’ฐานันดร’ที่ต่างกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกบจากแฟ้มภาพ
20 กันยายนวันเยาวชนแห่งชาติ มาสร้างความเข้าใจเด็กและเยาวชนผ่าน'ฐานันดร'ที่ต่างกัน
จากรายงานผลการสำรวจความพึงพอใจในชีวิตและความเชื่อมั่นในอนาคตของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ โดยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ และเครือข่ายเสียงประชาชน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำการสำรวจทัศนคติของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 2,750 คน ในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ตราด สระแก้ว ระยอง เชียงใหม่ น่าน ตาก เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย อำนาจเจริญ ชุมพร กระบี่ ภูเก็ต และนราธิวาส ระหว่างวันที่ 1-15 ธันวาคม 2558 เพื่อทำความเข้าใจกับความพึงพอใจในชีวิต และความเชื่อมั่นในอนาคตของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ และความคาดหวังต่อการพัฒนาในอนาคตของเยาวชนแต่ละกลุ่ม
ในการสำรวจครั้งนี้ ผู้สำรวจได้เพิ่มตัวแปรใหม่ขึ้นมาหนึ่งตัวเรียกว่า "กลุ่มฐานันดร" ด้วยการถามว่า เยาวชนคิดว่าตนเองเป็นกลุ่มฐานันดรใดในทัศนะของเพื่อน โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 6 กลุ่ม คือ กลุ่มฐานันดรนักกีฬา/นักดนตรี/นักกิจกรรม กลุ่มฐานันดรเด็กเรียน/เด็กเนิร์ด กลุ่มฐานันดรตัวท็อป/ป๊อบปูลาร์ กลุ่มฐานันดรอันธพาล กลุ่มฐานันดรไร้ตัวตน และกลุ่มอื่นๆ เพื่อศึกษากลุ่มฐานันดรของเยาวชนแต่ละกลุ่มถึงความพึงพอใจในชีวิตและความเชื่อมั่นในอนาคต พบการสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตที่ขึ้นอยู่กับการประเมินของผู้คนและแต่ละคน ซึ่งอาจมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ตามความนึกคิดและเป้าหมายการดำเนินชีวิตของตน หรือที่เรียกว่า Subjective well-being โดยทั่วไป ค่าคะแนนความพึงพอใจในชีวิตจะกำหนดเป็นค่าคะแนนตั้งแต่ 1 คือ ไม่พึงพอใจในชีวิตเลย ไปจนถึง 10 หมายถึง มีความพึงพอใจในชีวิตมากที่สุด ในภาพรวมแล้ว เยาวชนคนรุ่นใหม่ไทยมีความพึงพอใจในชีวิตสูง คือมีระดับความพึงพอใจในชีวิต 8.25 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ครอบครัวและเพื่อนนำมาสู่ความพึงพอใจในชีวิต ตามมาด้วยความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมเรียนหรือเพื่อนร่วมงาน ในการสำรวจครั้งนี้ได้ถามว่า เยาวชนผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าตนเองเป็นกลุ่มฐานันดรใดในทัศนะของเพื่อน ผลการสำรวจพบว่า เยาวชนรุ่นใหม่คิดว่าตนเองอยู่ในกลุ่มฐานันดรนักกีฬา/นักดนตรี/นักกิจกรรมมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มฐานันดรเด็กเรียน/เด็กเนิร์ด เมื่อจำแนกตามเพศแล้วจะเห็นว่า เพศหญิงมีสัดส่วนการเป็นกลุ่มฐานันดรเด็กเรียน/เด็กเนิร์ดมากกว่าเพศชาย แต่เพศชายจะมีฐานันดรนักกีฬา/นักดนตรี/นักกิจกรรมมากกว่าเพศหญิง ส่วนกลุ่มฐานันดรตัวท็อป/ป๊อบปูลาร์ ทั้งสองเพศจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ผู้ชายจะมีสัดส่วนเป็นกลุ่มฐานันดรอันธพาลมากกว่าเพศหญิง แต่ผู้หญิงจะมีสัดส่วนเป็นกลุ่มฐานันดรไร้ตัวตนมากกว่าเพศชายเล็กน้อย อย่างไรก็ดีเยาวชนที่รู้สึกว่าตนมีฐานะยากจน มีคะแนนความเชื่อมั่นทั้ง 4 ด้านต่ำกว่าเยาวชนที่รู้สึกว่าตนมีฐานะพอมีพอกินและเยาวชนที่มีฐานะร่ำรวยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
โดยภาพรวมเยาวชนรุ่นใหม่มีความพึงพอใจในสภาพแวดล้อมของจังหวัดที่ตนอยู่ มีความภาคภูมิใจในจังหวัดที่ตนอยู่ในระดับสูง และมีความเชื่อมั่นต่ออนาคตการพัฒนาในจังหวัดที่ตนอยู่นี้ในระดับที่สูง โดยในด้านความพึงพอใจในสภาพแวดล้อมของจังหวัดที่ตนอยู่ ในส่วนความภาคภูมิใจในจังหวัดของตนเอง พบว่า เยาวชนมีความภาคภูมิใจในจังหวัดที่ตนอยู่ในระดับสูง สำหรับคะแนนความเชื่อมั่นต่ออนาคตการพัฒนาในจังหวัดนี้ พบว่า เยาวชนมีความภาคภูมิใจในจังหวัดที่ตนอยู่ในระดับสูง เยาวชนในแต่ละภาคมีระดับความพึงพอใจในสภาพแวดล้อมของจังหวัดตนเอง ระดับความภูมิใจในจังหวัดของตนเอง และระดับคะแนนความเชื่อมั่นต่ออนาคตการพัฒนาในจังหวัดของตน ในทางตรงกันข้าม เยาวชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีระดับคะแนนความพึงพอใจในสภาพแวดล้อมของจังหวัดที่ตนอยู่ต่ำที่สุด ส่วนคะแนนความภาคภูมิใจในจังหวัดที่ตนอยู่ในปัจจุบัน พบว่า เยาวชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีระดับคะแนนความภาคภูมิใจในจังหวัดที่ตนอยู่ต่ำที่สุดเช่นกัน
สำหรับระดับความเชื่อมั่นต่ออนาคตการพัฒนาในจังหวัดที่ตนอยู่ในปัจจุบัน เยาวชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีระดับคะแนนความเชื่อมั่นต่ออนาคตการพัฒนาในจังหวัดที่ตนอยู่ต่ำที่สุด ทั้งนี้สาเหตุที่เยาวชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความภูมิใจในจังหวัดที่ตนอยู่น้อยที่สุด อาจเป็นเพราะ สัดส่วนของเยาวชนที่มีภูมิลำเนาหรือบ้านเกิดอยู่ใน กทม.และปริมณฑลมีน้อยที่สุด สำหรับคำถามว่า ในอนาคต (อีก 10 ปีข้างหน้า) เยาวชนไทยอยากใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดที่อยู่ในปัจจุบันหรือไม่? พบว่า เยาวชนร้อยละ 85.3 อยากใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดที่อยู่ในปัจจุบัน มีเพียงร้อยละ 14.7 ที่ไม่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดที่ตนอยู่ในอนาคต โดยเหตุผลสำคัญในการย้ายออกจากจังหวัดที่ตนอยู่คือ เพื่อสร้างโอกาสในชีวิตและเพื่อเรียนรู้โลกภายนอก
สิ่งที่เยาวชนผู้ตอบแบบสอบถามอยากให้มีในจังหวัดของตนเองมากที่สุด (กำหนดให้ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกได้ 3 ข้อ คือ 1. มหาวิทยาลัย 2. รถไฟฟ้า/รถราง 3. เทศกาลภาพยนตร์/คอนเสิร์ต 4.สวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ 5. สนามกีฬาที่ทันทันสมัย 6. ป่าไม้และอุทยาน 7. ศูนย์การค้า ปัญหาหนักใจสำหรับเยาวชนไทย พบว่ามีปัญหาเรื่องการเรียนมากที่สุด รองลงมาคือ ปัญหาด้านการเงิน ตามมาด้วยปัญหาด้านความรักเป็นอันดับ 3 และปัญหาสุขภาพ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตามกลุ่มฐานันดร แม้ว่าแนวโน้มของปัญหาจะมีลักษณะใกล้เคียงกับปัญหาที่พบในภาพรวม (กล่าวคือ ปัญหาการเรียนและการเงินเป็นปัญหาใหญ่) แต่เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาที่พบว่ากับกลุ่มฐานันดรแต่ละกลุ่มฐานันดรด้วยค่า chi-square พบว่า ลักษณะปัญหามีความสัมพันธ์กับกลุ่มฐานันดรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น เมื่อเวลามีปัญหา เยาวชนรุ่นใหม่ยังคงปรึกษาพ่อแม่มากที่สุด ส่วนเยาวชน กทม. พึ่งเพื่อนมากกว่าภาคอื่นๆ.