สร้างความสุขให้เกิดขึ้นในองค์กรกันดีกว่า

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า


สร้างความสุขให้เกิดขึ้นในองค์กรกันดีกว่า thaihealth


จากผลสำรวจสุขภาพคนไทยในปี พ.ศ. 2559  โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สถานการณ์สุขภาวะวัยแรงงาน ช่วงอายุ 15-60 ปี ทางด้านร่างกาย มีความเครียดสูง จากการเจ็บป่วยของตนเอง หนี้สินรุมเร้า และเครียดจากการทำงาน


ด้านจิตปัญญา มีการยึดถือ และปฏิบัติตามหลักศาสนาน้อย ด้านสังคมมีแนวโน้มพฤติกรรมความเป็นส่วนตัวสูง เคารพ และปฏิบัติตามกติกาสังคมน้อย โดยเฉพาะกลุ่ม Generation Y คือ เกิดในช่วง พ.ศ. 2525-2543 และ ด้านร่างกาย มีการอ้วน ลงพุงเพิ่มสูงขึ้น 19 ล้านคน โดยเฉพาะ ผู้หญิงมีโอกาสอ้วนสูงกว่าผู้ชาย ด้วยสาเหตุนี้ แต่ละองค์กรจึงจำเป็นต้องเจาะลึก ออกแบบสำรวจสถานการณ์ขององค์กรตนเองจนถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของพนักงาน เพื่อการพัฒนาองค์กร และคนในองค์กรให้มีศักยภาพพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ในสังคมให้เกิดการเปลี่ยนในตนเองและสามารถประเมินผลได้ เพราะหากคนในองค์ไม่พร้อม หรืออย่างใด อย่างหนึ่งไม่พร้อม ความก้าวหน้าในองค์กร ก็จะไม่เกิดขึ้น ความสุขในองค์กร (โรงงาน) ก็จะไม่เกิดขึ้นเช่นกัน


ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนกระทั่งถึง วันนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ได้ผลักดันแนวทาง Happy Workplace ความสุข 8 ประการในองค์กร ให้มีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนแนวคิด ทฤษฎี สู่การปฏิบัติจริงให้เกิดผลสำเร็จ และเมื่อไม่นานมานี้ สสส. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมโคราช เปิดตัว "โรงงาน ม่วนแฮง" ศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่งความสุข เพื่อผลักดันแนวทาง Happy Workplace ความสุข 8 ประการให้ นายจ้าง และแรงงาน เดินหน้าสู่องค์กรแห่งความสุข มีคุณภาพชีวิตดี และยังเตรียมพร้อมเพื่อขยายเพิ่มอีก 5 แห่งกระจายทั่วทุกภูมิภาค


สร้างความสุขให้เกิดขึ้นในองค์กรกันดีกว่า thaihealth


นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า การพัฒนาองค์กรเป็นหัวใจสำคัญในการก้าวสู่ยุค ไทยแลนค์ 4.0 ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยให้องค์กรพัฒนา คือ การมีบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีสุขภาพที่ดี ถึงจะเรียกว่าการพัฒนาอย่างแท้จริง นอกจากนี้ องค์กร เจ้าของบริษัท ต้องมีวิสัยทัศน์ในการเรียนรู้ว่าองค์กรของตนเองมีความพร้อม ในการทำงาน หรือมีจุดด้อยในด้านใดบ้าง ต้อง วิเคราะห์ให้ได้ว่าพนักงานในการปกครองมีศักยภาพ ที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้หลากหลายแค่ไหน หากอย่างใดอย่างหนึ่งไม่พร้อม ก็ต้องมีหลักเข้าไปช่วย ขับเคลื่อน สสส. จึงได้ ชูโมเดล Happy Workplace ความสุข 8 ประการในที่ทำงาน ผนวกกับหลัก MINDFULNESS IN ORGANIZATION (MIO) การสร้างสุขด้วยสติในองค์กร เพื่อส่งเสริมทั้งด้านชีวิต สุขภาพ ความสุขในการทำงานให้เกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า แต่ละองค์กร มีหน้าที่บริบทในการทำงานแตกต่างกันออกไป สิ่งที่องค์กรต้องเรียนรู้ คือ การนำไป ปรับใช้ให้เหมาะสม พร้อมสอดแทรกกิจกรรมทางกาย สร้างความผ่อนคลาย ลดการตึงเครียดจากการทำงานให้กับพนักงานอย่างถูกต้องควบคู่กันไปด้วย


นางสาวกรพินธุ์ คชรัตน์ ผู้จัดการศูนย์องค์กรแห่งความสุข กล่าวถึงการเปิดตัว "โรงงานม่วนแฮง" ที่ภาคอีสานเป็นที่แรก ว่า เพื่อให้ทุกองค์กร ได้เรียนรู้การสร้างองค์กรแห่งความสุข จากต้นฉบับของ สสส. และจากศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่งความสุข ซึ่งในตอนนี้มีศูนย์เรียนรู้ทั้งหมด 7 องค์กร ได้แก่ ภาคเหนือ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริษัท เจ.เอช. อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท สงวน สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ภาคตะวันออก บริษัท ริกิ การ์เม้นส์ จำกัด ภาคกลาง บริษัท แม่น้ำสแตนเลสไวร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ติ้งกู๊ด จำกัด ภาตใต้ บริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน)


สร้างความสุขให้เกิดขึ้นในองค์กรกันดีกว่า thaihealth


ผู้จัดการศูนย์องค์กรแห่งความสุขเปิดเผยถึงหลักในการคัดเลือกองค์กรมาเป็น ต้นแบบศูนย์ทั้ง 7 ศูนย์ว่า มาจาก 1.ผู้บริหารมีนโยบายในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ 2.มีทีมงาน ที่พร้อม เมื่อคัดเลือกเสร็จ ต้องมีการเข้าไปทำความเข้าใจกับองค์กร ว่าขั้นตอนการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ต้องมีดังนี้ ระยะแรก คือ การถอดบทเรียน องค์ความรู้ของผู้บริหาร ฝ่ายบุคคล และพนักงานทั่วไป ระยะที่ 2 เริ่มพัฒนาศักยภาพทีมงาน ส่งเสริมด้านแนวคิด ให้สามารถถ่ายทอดเรื่ององค์กรแห่งความสุข Happy Workplace และการส่งเสริมสุขภาพของ สสส. ทั้ง 5 ประเด็นได้ คือ เหล้า บุหรี่ อาหาร ยาเสพติด และการ ออกกำลังกาย ในพื้นที่ของตนเอง พร้อมพัฒนาทีมงานทั้ง ด้านสื่อ การตัดต่อวีดีโอ การใช้โปรแกรมนำเสนอ และถอดบทเรียนทั้งหมดออกมาเป็นหนังสือเกี่ยวกับองค์กรของตนเอง และมีการออกบูธจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ได้ เพื่อให้บุคคลทั่วไป หรือองค์กรต่างๆ สามารถเรียนรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลได้ และระยะที่ 3 คือการจัดเวทีเสวนาขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหา ของแต่ละองค์กรพร้อมให้คำปรึกษา หาแนวทางการแก้ไข ในแต่ละภาค


และในการเปิดตัวองค์กรแห่งความสุข ภาคอีสาน "โรงงานม่วนแฮง" ในครั้งนี้ ได้มีต้นแบบศูนย์เรียนรู้ทั้ง 7 แห่ง มาเข้าร่วม เพื่อถ่ายทอดความรู้ ในด้านการปูพื้นฐานองค์กรแห่งความสุข ในหัวข้อ องค์กรแห่งความสุขในยุค 4.0 การเสวนาประโยชน์ และการสร้างองค์กร แห่งความสุข การเสวนาประเด็นสำคัญของการ สร้างองค์กรแห่งความสุข ได้แก่ การสร้างองค์กร แห่งความสุขด้วย หลัก MINDFULNESS IN ORGANIZATION (MIO) การสร้างสุข ด้วยสติในองค์กร และการส่งเสริมหลัก Happy Workplace พร้อมเทคนิค และการจัดกระบวนการทำงานให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข ส่วนแนวทางในการทำงานต่อไป คือการพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น ขยายเครือข่ายองค์กร ซึ่งตอนนี้ในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมาที่ สสส. ได้จัดงานเปิดตัว "โรงงานม่วนแฮง" มีองค์กรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 110 องค์กร แล้ว


ก่อนจากกัน "ปานมณี" ขอกระซิบ ให้ทราบว่าองค์กรไหน (ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก) มีปัญหาในการทำงาน หากต้องการขับเคลื่อน องค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาขึ้น และที่สำคัญเป็นการส่งเสริมให้พนักงานมีศักยภาพที่ดี มีความสุขในที่ทำงานสนใจ เข้าร่วมโครงการ Happy Workplace สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะองค์กร (Happy Workplace center) อาคาร มูลนิธิกองทุนไทย เลขที่ 2044/23 ถ.เพชรบุรี ตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 เบอร์โทรศัพท์ 02-0356311 และ 099-0143797

Shares:
QR Code :
QR Code