สร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ ลดอุบัติเหตุทางถนน จ.ระยอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายการศึกษาอาชีวศึกษาในพื้นที่ จ.ระยอง ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนของนักศึกษา และพร้อมเป็นแกนนำเพื่อขยายองค์ความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับชุมชนของตนเอง
จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่สำคัญของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็นเรื่องสำคัญ ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุโดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ระบุว่า ปี 2562 จ.ระยองมีผู้ป่วยนอก (OPD) จากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 20,793 คน
ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย วิทยาลัยเทคนิคระยอง วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด วิทยาลัยสารพัดช่างระยอง และวิทยาลัยการอาชีพแกลง จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนนักศึกษาอาชีวศึกษา จังหวัดระยองเพื่อสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพและการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยทางถนนสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 กล่าวว่า จากตัวเลขข้างต้นในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10-19 ปี จำนวน 4,424 คน คิดเป็นร้อยละ 21.27% ขณะที่เป็นผู้ป่วยในที่ต้องรักษาพยาบาล (IPD) จำนวน 5,096 คน เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10-19 ปี สูงถึง 811 คน และมีเด็กเยาวชนเสียชีวิต 63 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.35 จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุ เท่ากับสูญเสียโอกาสในชีวิต สูญเสียกำลังคนในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบบูรณาการการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ในปี 2554-2562 พบว่าแนวโน้มการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่ม เด็กและเยาวชน อายุ 15-19 ปี เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และร้อยละ 74 ของผู้เสียชีวิต คือ ผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์
"แนวทางการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน สสส. และภาคีเครือข่าย มีเป้าหมายสำคัญคือ 1.ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ไม่เกิน 12 คนต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 2.ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในกลุ่ม "ผู้ใช้รถจักรยานยนต์" 3.ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และ 4.เน้นแก้ไขในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยการประสานพลังเครือข่ายทุกภาคส่วนทั่วประเทศ"
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง สนับสนุนโดย สสส. ได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนนใน จ.ระยอง ซึ่งมีแกนนำนักศึกษาและคณะผู้บริหารจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 60 ภายใต้แนวคิด "เด็กคิด เด็กทำ ผู้ใหญ่หนุน"
ทั้งนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ 2560) ได้คำนวณมูลค่าความสูญเสียจากการเสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปี 2554-2556 เฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 545,435 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างรุนแรง ขณะที่นักความปลอดภัยทางถนน กระทรวงคมนาคม ระบุงบประมาณใช้แก้ไขอุบัติเหตุอยู่ที่ 14,700 ล้านบาท หรือลงทุน 1 บาท ได้ผลตอบแทน 38 บาท สาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุบนท้องถนนมาจากเมาแล้วขับ ซึ่งการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของ 200 โรค
ทั้งนี้ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 8 ในวาระรายงานประจำปี 2563 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 โดยมี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เป็นผู้ชี้แจง โดยมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมอภิปรายประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพอย่างกว้างขวาง
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการพัฒนาสังคม วุฒิสภา กล่าวว่า ขอชื่นชมผลงานของ สสส. ที่มีการทำงานเชิงระบบ เชิงนโยบาย และมีการขับเคลื่อนงานตลอดเวลา โดยเฉพาะการจัดการ "ระบบฐานข้อมูลตำบลและวิจัยชุมชน" ซึ่ง สสส. สนับสนุนให้องค์กรชุมชนต่างๆ พัฒนาระบบข้อมูลตำบล (TCNAP) และระบบวิจัยชุมชน (RECAP) โดยตำบล เพื่อตำบล และบูรณาการกับองค์กรอื่นเช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทำให้หน่วยงานรู้ปัญหา จุดอ่อน จุดแข็ง และสามารถนำข้อมูลใช้วางแผนแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนของตนเอง ทำให้ "ตำบลมั่นคง เข้มแข็ง มั่งคั่ง ยั่งยืน" เกิดขึ้นจริง การทำงานของ สสส. ยังสอดคล้องและส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้เกิดเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กว่า 3,400 ตำบล สมควรที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ทำทุกตำบลทั่วประเทศโดยกรรมาธิการพัฒนาสังคม วุฒิสภา อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องนี้และจะผลักดันเข้า ครม. ต่อไป
แนวทางการทำงานสร้างสุขภาพเน้นสร้างนำซ่อมของ สสส.ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาอยู่ในสายตาของนานาชาติ ผลงานเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นว่าสร้างนวัตกรรมป้องกันสุขภาพ ดีกว่าเพิ่มหมอและโรงพยาบาลเพื่อรองรับคนเจ็บป่วย