สร้างคนต้นแบบมีวินัยทางสุขภาวะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
สสส.ร่วมพัฒนาทักษะแรงงานสร้างคนต้นแบบมีวินัยทางสุขภาวะ
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร และทักษะฝีมือให้กับกำลังแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทักษะฝีมือกำลังแรงงานของประเทศ กพร. จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในการบูรณาการภารกิจการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยการจัดทำ “โครงการต้นแบบ การเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา”
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า โครงการต้นแบบการเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สสส. และสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกำลังแรงงานให้มีคุณภาพและทักษะนิสัยอุตสาหกรรม หรือวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
รวมทั้งสอดคล้องกับการดำเนินงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการพัฒนาทักษะรองรับการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 นิสัยอุตสาหกรรม 9 พฤติกรรม 9 ความสำเร็จ และการประเมินความเสี่ยงตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2555
การดำเนินงานโครงการนี้ ได้ร่วมกันดำเนินการจัดฝึกอบรมให้แก่ผู้เข้ารับการฝึก ในหลักสูตร เตรียมเข้าทำงาน ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 1,235 คน ในพื่นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิษณุโลก สระแก้ว สุราษฎร์ธานี ตรัง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งกำหนดแผนจัดอบรมแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
โดยระยะที่ 1 ฝึกอบรม 3 วัน (วันศุกร์-อาทิตย์) ระยะเวลาการฝึก 12 ชั่วโมง ระยะที่ 2 การสร้างความคุ้นเคยระหว่างการฝึกในหน่วยงาน กพร.เท่านั้น ซึ่งสมาคมจะจัดทำสมุดเพื่อบันทึกการเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีเพื่อนร่วมสาขาการฝึกจะเป็นผู้ประเมินเป็นรายวัน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อประเมินการฝึกรายสัปดาห์ และมีอาจารย์ผู้สอนประเมินผลการฝึกบุคคลรายเดือน และระยะที่ 3 เป็นการประเมินผู้รับการฝึก และได้รับวุฒิบัตรเพื่อมอบให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกดังกล่าว
นอกจากนี้ จะมีการจัดฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 11 แห่ง ๆ ละ 10 คน รวม 110 คน โดย สสส. ให้การสนับสนุน และมีสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นผู้บริหารโครงการฯ โดยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา นายธีรพล กล่าว