สร้างกำแพงแนว”รุก”รับไข้หวัด2009 ผนึงกำลังท้องถิ่น

“ชน”ระบาดระลอก2

 สร้างกำแพงแนว”รุก”รับไข้หวัด2009 ผนึงกำลังท้องถิ่น

          สถานการณ์การแพร่ระบาด“ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” ในประเทศไทยขณะนี้ แม้อัตราการเสียชีวิตจะลดลงแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการแพร่ระบาดของโรคจะสิ้นสุดลงไปด้วย แต่กลับกลายเป็นความกังวลว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 จะกลับมาระบาดอีกครั้งอีกระลอก2 อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม…!!…

 

          ความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ของโรคที่จะ “ระบาดในระลอก2” ว่า น่าจะมีความรุนแรงกว่าเดิม เนื่องมาจากเป็นจังหวะของการผลัดเปลี่ยนฤดูฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว โดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศที่อากาศมีสภาพความชื้นสูง และค่อนข้างเย็น ส่งผลให้การแพร่ระบาดของเชื้อโรค เกิดภาวะการติดเชื้อในทางเดินหายใจได้ง่าย

 

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ขณะนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ในช่วงขาลง แต่ขณะที่ข้อมูลระบาดวิทยาบ่งชี้ว่า ทางภาคเหนือตอนบน และภาคอีสานบางพื้นที่มีอัตราผู้ป่วยสูงขึ้น ใน 15 จังหวัด ประกอบไปด้วย จ.เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ ลำปาง เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี

 

          เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดเปิด “ศูนย์เฝ้าระวังการะบาดไข้หวัดใหญ่ 2009” ให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคท้องถิ่นองค์การบริหารส่วนตำบล แกนนำชุมชนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้ดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มงวด

 

          นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 กล่าวว่า ภาคท้องถิ่นนอกจากจะมีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ และสามารถดูแลได้ทั่วถึงทุกหลังคาเรือน แล้วยังได้ผ่านการอบรมความรู้ความสามารถในการป้องกัน คัดกรอง คัดแยกผู้ป่วยมาบ้างแล้ว นับเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค โดยไม่ต้องไปกังวลว่าจะเป็นระลอกที่ 2สำหรับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อดูการทำงาน และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานในการป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่เน้นเรื่องของการป้องกัน ของแต่ละพื้นที่ เพื่อจะสนับสนุน และเข้าไปเติมเต็มสิ่งที่พื้นที่ยังมีความต้องการ โดยการทำงานจะไม่ไปทับซ้อนกัน เพราะในการประชุมการทำงานจะมีการเชิญทุกหน่วยงาน เช่น สสส. กระทรวงสาธารณสุข สปสช. สวรส. มหาวิทยาลัย สสจ. และภาคท้องถิ่น เป็นเจ้าภาพร่วมกันเพื่อผลักดันงานให้ขับเคลื่อนไปได้

 

          “งานป้องกันไข้หวัดใหญ่ ได้เริ่มทำในระดับจังหวัด ซึ่งเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือจังหวัดที่เข้มแข็งจะเป็นเกราะป้องกันภัยหรือมีวัคซีนเป็นภูมิคุ้มกันให้กับท้องถิ่นตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากโรคระบาด ปัญหาเศรษฐกิจหรือสังคม เชื่อว่าทั่วประเทศหากมีท้องถิ่นที่เข้มแข็งได้เพียง 10 เปอร์เซ็น เมล็ดพันธุ์ดีๆ แบบนี้จะขยายผลงอกงามต่อไปอีก” นพ.มงคล กล่าว

 

          ขณะที่ นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง (สสจ.) กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลมากเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคก็ คือ บางพื้นที่ยังมีความชะล่าใจในการติดตามค้นหาผู้ป่วย เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เช่น ในพื้นที่ในระดับอำเภอมีประชากร 40,000 คน แต่พบว่ามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 เพียง 1 ราย หรือไม่มีรายงานการติดเชื้อไข้หวัด 2009 อาจทำให้ผู้รับผิดชอบขาดการใส่ใจและคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วง ตรงนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด จึงได้กระตุ้นให้ทุกฝ่ายได้เฝ้าระวังกันต่อไปจากสถานการณ์การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จ.ลำปาง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 1 ก.ย. 52 พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 276 ราย รักษาหายแล้ว 270 ราย และรักษาในโรงพยาบาล 6 ราย ซึ่งยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต และในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ เพิ่มขึ้นจำนวน 48 ราย แม้จะมีรายงานตัวเลขที่น่ากังวล แต่มาตรการในการค้นพบผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

          สำหรับมาตรการของสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้ให้ อสม. ทั้ง 13 อำเภอ กว่า 18,000 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่อนามัย รณรงค์ให้ความรู้ในการป้องกันโรค และเมื่อป่วยให้รู้จักดูแลตนเองไม่ให้โรครุนแรง เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วย ภายใต้ยุทธศาสตร์ ค้นหาเร็ว ให้เจอผู้ป่วยเร็ว และให้การรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่โรคเริ่มระบาด โดยเน้น 3 มาตรการหลัก คือ 1.การป้องกันคนปกติไม่ให้ป่วยหรือติดเชื้อ 2.การป้องกันผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยไม่ให้แพร่กระจายเชื้อ และ 3.การป้องกันผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงไม่ให้เสียชีวิตด้วยการรักษาที่ทันท่วงที

 

          การเฝ้าระวังการระบาดของโรคไม่ได้ทำเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเมืองเท่านั้น ในพื้นที่ชุมชนตามชนบทก็มีการดำเนินการด้วย แม้จะเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล แต่ด้วยการคมนาคมที่มีการไปมาหาสู่กันได้ง่าย จึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นเส้นทางเดินของไข้หวัดใหญ่2009 ศูนย์เฝ้าระวังการะบาดไข้หวัดใหญ่ 2009  ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง ที่ทำงานป้องกันการระบาดอย่างหนักที่ นับเป็นตัวอย่างของการจัดการตัวเองในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่มีระบบ

 

          ว่าที่ ร.ต.อุดม สุวรรณพิมพ์ นักวิชาการสุขาภิบาล อบต.แม่ถอด กล่าวว่า แกนนำชุมชนที่เข้ามาร่วมงานทุกคน ถือว่ามีจิตอาสาเป็นทุนเดิม และเป็นนักปฏิบัติที่ช่วยให้งานขับเคลื่อน และเดินหน้าไปได้ สิ่งสำคัญ คือ คนในชุมชนอยู่กันแบบครอบครัว มีแนวคิดร่วมกันในการสร้างท้องถิ่นให้น่าอยู่ปราศจากโรคภัย โดยได้นำมาตรการเชิงรุกมาใช้ เพื่อรณรงค์สร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมเพื่อป้องกันตนเองของชาวบ้านจนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่ไม่มีสบู่ล้างมือไว้หน้าบ้านตอนนี้หลายครัวเรือนกลับต้องเตรียมไว้ล้างมือก่อนเข้าบ้าน รวมทั้งรณรงค์ให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อด้วยการแจกหน้ากากอนามัยให้กับโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และสถานีอนามัยในพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงต่างๆนอกจากนี้ ยังจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ทั้งป้ายผ้า โปสเตอร์ โดยใช้ภาษาท้องถิ่นที่เข้าใจง่ายตามแบบคนภาคเหนือ มีการจัดมุม 2009 คอนเนอร์ เพื่อตั้งเจลล้างมือและแจกคู่มือการดูแลตนเอง รวมไปถึงการจัดแกนนำเพื่อเคาะประตูให้ความรู้ถึงบ้าน โดยการแบ่งหน้าที่ให้ อสม. 1 คน ดูแลชาวบ้าน 10 หลังคาเรือน ซึ่งมาตรการเหล่านี้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดีหากมีงานบุญ งานวัด หรืองานสำคัญของชุมชน ทาง อบต. โดยศูนย์เฝ้าระวังการะบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 จะส่ง 2009 คอนเนอร์ เข้าไปสนับสนุนในงาน เพื่อใช้ในการคัดกรองผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งจะมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (เทอร์โมสแกน) สำหรับตรวจวัดอุณภูมิผู้เข้าร่วมหากตรวจพบผู้ร่วมงานรายไหนมีไข้ร่วมกับอาการอื่นๆ จะขอความร่วมมืองดการร่วมงานทันทีโดยจะมีทีมเฝ้าระวังโรคไข้หวัด2009 ของหมู่บ้าน (อสม./ อช.) เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนในโรงเรียนและศูนย์เด็ก มีการเฝ้าระวังโดยการคัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนตอนเช้า หากพบว่ามีอาการไข้ ร่วมกับ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จะให้หยุดเรียนก่อนและใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน โดยจะให้ทางโรงเรียนรายงานผลการคัดกรองให้สถานีอนามัยทราบ เพื่อรวบรวมรายงานให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อำเภอเถิน ทราบเป็นระยะเพื่อประเมินดูสถานการณ์และแจ้งเตือนพื้นที่กรณีเกิดความผิดปกติต่อไป

 

          ความร่วมมือของทุกภาคส่วนนับเป็นอีกหนึ่งต้นแบบความสำเร็จในการควบคุม ป้องกัน แก้ไขการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่2009 ด้วยรูปแบบการทำงานที่เป็นแนวราบ คือ การร่วมกันทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องรอการสั่งการจากส่วนกลาง และหัวใจสำคัญก็ คือ ความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่           เพราะต่อให้มีนโยบายดีแค่ไหน ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือก็จะไม่ประสบความสำเร็จ

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

 

Update: 17-09-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย

Shares:
QR Code :
QR Code