สร้างกำลังใจ สู้ต่อไปงดเหล้าออกพรรษา

          สสส. – สคล.รับลูกนายกฯ ชวนคนไทยงดเหล้า งดอบายมุขต่อเนื่องหลังออกพรรษา เผยส่วนใหญ่งดดื่ม 3 เดือนได้สำเร็จ เหตุสิ้นเปลือง – เสียสุขภาพ “แพทย์สถาบันธัญญารักษ์” ชี้ผู้ติดสุรา 40 – 45 ปีแห่บำบัดมากสุด เหตุภาวะทางอารมณ์ เครียด – ซึมเศร้า ด้าน “อดีตเซียนเหล้า” เปิดใจ ตกเป็นธาตุน้ำเมาเกือบทั้งชีวิต เคยก๊งหนักเช้ายันเย็น โรคภัยรุมเร้า ตกงาน เพื่อนบ้านเบื่อหน่าย สุดท้ายหักดิบเลิกดื่ม พร้อมปฏิญาณตนงดดื่มตลอดชีวิต


/data/content/26032/cms/e_bgloqruxyz79.jpg


          เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 เวลา 10.00 น.ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์  สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและสถาบันธัญญารักษ์ จัดกิจกรรมรณรงค์ “สร้างกำลังใจ..สู้ต่อไปงดเหล้าออกพรรษา” ในงานมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “เซียนเหล้า ล้างมือในอ่างทองคำประกาศเลิกเหล้า”


          นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่าเมื่อวันที่ 3ต.ค.ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ชื่นชมคนที่งดเหล้างดอบายมุขช่วงเข้าพรรษา และเชิญชวนให้คนไทยงดต่อไป เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กและเยาวชน สำหรับกิจกรรมรณรงค์“สร้างกำลังใจสู้ต่อไปงดเหล้าออกพรรษา”ครั้งนี้เพื่อต้องการให้กำลังใจผู้ที่ตั้งใจจะงดเหล้าครบพรรษาและสู้ต่อไปหลังจากออกพรรษา นำไปสู่การเลิกดื่มระยะยาว เพื่อตัวเองครอบครัว และคนรอบข้าง


 /data/content/26032/cms/e_fhjotuy34578.jpg


         ทั้งนี้ภาพรวมกิจกรรม “ชวน ช่วย ให้กำลังใจ คนไทยงดเหล้าครบพรรษา” ที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่านักดื่มส่วนหนึ่งที่เลิกดื่มช่วงเข้าพรรษาได้ มีความตั้งใจลดการดื่มลงหลังจากออกพรรษา เหตุผลเพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไม่มีประโยชน์ เสียสุขภาพ ที่สำคัญคนที่งดดื่มมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีเงินเก็บ สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) ระบุว่าการเลิกสุราจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 1,312 บาทต่อเดือนต่อคน ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยควักกระเป๋าซื้อเหล้าปีละกว่า2แสนล้านบาท ยังไม่นับความสูญเสียที่เกิดจากการดื่ม


          นายธีระ กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลการสำรวจระบาดวิทยาระดับชาติครั้งล่าสุด พบว่า อายุผู้ติดเหล้าเฉลี่ยจากที่มีอายุ 30 – 45 ปีขึ้นไป ลดเหลือเพียง 20 – 30 ปีเท่านั้น โดยภาพรวมมีผู้ติดสุราราว4.3 ล้านคน1ใน 4หรือกว่า1ล้านคน อายุ15 – 25 ปี ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคเรื้อรังหลายชนิด ดังนั้นการรณรงค์จึงต้องทำต่อเนื่องครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งแต่ละพื้นที่จะเน้นกิจกรรมชวนเพื่อน ครอบครัว และญาติเลิกดื่มสุรา อย่างไรก็ตามคาดว่าออกพรรษานี้จะมีหลายครอบครัวที่พร้อมใจลดละเลิกและขอเชิญชวนผู้ที่งดเหล้าครบพรรษา3เดือน ให้เข้มแข็งและงดต่อเนื่องเพื่อสุขภาพและคนที่เรารัก


/data/content/26032/cms/e_abiostvy1479.jpg


          พญ.ริชาพรรณ ชูแกล้ว  นายแพทย์ชำนาญการสถาบันธัญญารักษ์ กล่าวว่า สุราถือเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง คนไข้ส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาด้วยโรคที่เกิดจากสุรามีอายุ 40 – 45ปี และที่อายุมากสุดคือ 80 ปี อายุน้อยสุด 23 ปี ส่วนการบำบัดรักษามี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1. เตรียมการก่อนรักษา เป็นกระบวนการชักจูงคนไข้ให้เข้าสู่การรักษา 2. รักษาภาวะถอน ได้แก่ อาการสั่น นอนไม่หลับ สับสน ประสาทหลอน หรือชักเกร็ง 3. บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นการรักษาภาวะติดสุราโดยตรง เพื่อให้คนไข้สามารถหยุดดื่มไม่กลับไปใช้ซ้ำ 4. ติดตามการรักษา เพื่อช่วยประคับประคองให้หยุดได้ต่อเนื่องหากมีการกลับไปดื่มซ้ำจะได้รักษาได้ทันท่วงที สำหรับภาวะแทรกซ้อนในคนไข้ที่ติดสุรา มีทั้งอาการทางกาย เช่น ชักเกร็ง สมองเสื่อม หัวใจเต้นผิดปกติ เลือดออกทางเดินอาหาร ตับวาย ตับอ่อนอักเสบ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนอาการทางจิตเป็นตั้งได้ตั้งแต่ความผิดปกติทางอารมณ์ ก้าวร้าว ซึมเศร้า สูญเสียความจำ จนถึงหูแว่ว ประสาทหลอน ซึ่งคนไข้แต่ละรายมีอาการและการรักษาที่แตกต่างกัน หากผู้ดื่มแอลกอฮอล์กำลังตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ ทำให้มีพัฒนาการผิดปกติทั้งทางร่างกายและสติปัญญาได้


          “สาเหตุที่ทำให้ติดสุรามีหลายปัจจัย ทั้งทางพันธุกรรม ทางสังคม ที่เป็นแบบอย่างและการเข้าถึงง่าย  ภาวะทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า เครียด เมื่อดื่มเข้าไปแรกๆอาจทำให้อารมณ์ดีขึ้น รู้สึกดีขึ้น จนเกิดการใช้ซ้ำบ่อยๆ เมื่อดื้อต่อแอลกอฮอล์ในสมอง ต้องเพิ่มปริมาณทำให้ติดสุราในที่สุด อย่างไรก็ตาม คนไข้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บำบัดฟื้นฟู สร้างวงจรในสมองใหม่เพื่อไม่ให้กลับไปดื่มซ้ำ และฝากคำแนะนำสำหรับผู้ที่หยุดดื่ม หากต้องการหยุดได้ต่อเนื่องต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้นึกถึง ส่วนผู้ที่ยังดื่มอยู่อยากให้ลองเปรียบเทียบระหว่างข้อดีข้อเสียของการดื่ม แม้จะยังไม่เกิดผลกระทบกับตัวเองตอนนี้ แต่ในอนาคตหากเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ตับแข็งตับวาย สมองเสื่อม อุบัติเหตุ อัมพฤกษ์อัมพาต เป็นต้น ทั้งนี้หากต้องการเลิกดื่มสุรา สามารถปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านหรือสายด่วนสถาบันธัญญารักษ์ โทร.1165” พญ.ริชาพรรณ  กล่าว


/data/content/26032/cms/e_bdfmprtwx136.jpg


          ด้านนางสาวสายทอง ฤกษ์สระ อายุ 47 ปี อาชีพขายอาหารในโรงเรียนย่านท่าพระ กรุงเทพฯ เล่าถึงประสบการชีวิตที่เคยติดสุราว่า เริ่มดื่มสุราตั้งแต่อายุ 16 ปี ช่วงวัยรุ่นอยากรู้อยากลอง ชอบสังสรรค์ มักซื้อสุราสีมาดื่มกับเพื่อนเป็นประจำเพราะหาซื้อง่ายมีขายอยู่ทั่วไปตามร้านค้า จากนั้นเริ่มหันมาดื่มยาดอง ดื่มหนักขึ้นเรื่อยๆ พออายุ 20 ปี เข้าสู่วัยทำงานดื่มทุกวันทั้งเช้าเย็นจนติด ที่หนักสุดดื่มติดต่อกัน 1 เดือนโดยที่ไม่ทานข้าวเลย กระทั่งต้องออกจากงาน พอร่างกายไม่ไหว อาเจียน พี่สาวพาส่งโรงพยาบาล หมอระบุว่าเป็นตับอ่อนอักเสบ สาเหตุเพราะดื่มสุรา นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 3 วัน เมื่อออกจากโรพยาบาลได้ไม่นาน ก็กลับมาดื่มซ้ำ เพราะคิดว่าดื่มแล้วมีแรง กระปี้กระเปร่า ดื่มนิดเดียวคงไม่เป็นไร สุดท้ายเพิ่มปริมาณการดื่มขึ้นเรื่อยๆจนติด


          “เมื่อมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เข้ามาให้คำแนะนำช่วยเหลือ และพาไปรักษาที่สถาบันธัญญารักษ์ ถูกเจ้าหน้าที่กักบริเวณ 20 วัน ต้องทานยาก่อนและหลังอาหาร 3 เวลา ทำกิจกรรมออกกำลังกายทุกวัน ตอนนั้นรู้สึกดีขึ้นและไม่คิดกลับไปดื่มอีกแล้ว แต่พอออกจากโรงพยาบาลก็กลับมาดื่มซ้ำอีกเป็นครั้งที่3จนพี่สาวเริ่มรับไม่ได้ ทะเลาะกันเป็นประจำ ข้างบ้านดูถูกเหยียดหยาม ไม่มีใครอยากคบหา เมื่อบ่อยครั้งเข้าเริ่มรู้สึกว่าชีวิตไม่มีคุณค่า ไม่มีความสุข จึงคิดอยากจะเลิกดื่ม ทางมูลนิธิฯเลยแนะนำหาแนวทางให้เลิก จนกระทั่งตัดสินใจหักดิบ และอดทนจนตอนนี้เลิกดื่มได้ 2เดือนแล้ว ช่วงแรกๆแม้จะมีอาการขาสั่นคลื่นไส้ อยากสุรา แต่พยายามฝืนความรู้สึกจนเอาชนะใจตัวเองได้ในที่สุด” นางสาวสายทอง  กล่าว


          นางสาวสายทอง กล่าวด้วยว่า เมื่อย้อนคิดถึงช่วงที่ติดสุรา รู้สึกขยาดมาก เพราะเกือบเอาชีวิตไม่รอด เสียทั้งสุขภาพ หมดตัว  ตกงาน คนใกล้ชิดไม่อยากยุ่งเกี่ยว ต่อไปนี้สัญญากับตัวเองว่าจะไม่ตกเป็นทาสสุรา ต้องขอบคุณมูลนิธิฯและพี่สาวที่คอยให้กำลังใจจนกลับมาเป็นผู้เป็นคนได้ ชีวิตตอนนี้ดีขึ้น มีเงินเก็บ มีงานทำ พี่สาวมีความสุขมากขึ้น อยากฝากเป็นอุทาหรณ์กับสังคมว่า ขอให้คนที่ดื่ม ดูผลกระทบที่ตนได้รับมาเกือบทั้งชีวิต แล้วเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย ควรเลิกดื่มและหันมาเลือกสิ่งที่ดีให้กับชีวิตตัวเอง


 


 


          ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code