สร้างการ ‘ออมชุมชน…ก่อนชรา’
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
การส่งเสริมการออมเงินสำหรับวัยเกษียณ เป็นวิธีที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงทางการเงิน ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการเข้าถึงการบริการเรื่องสุขภาพ แต่ด้วยข้อจำกัดสภาพสังคมไทย ประชากรส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่มีรายได้มั่นคง จึงเป็นอีกประเด็นในสังคมไทยที่ต้องสร้างความเข้าใจ
การออมในรูปแบบ กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี สมัครเข้าร่วมกองทุน โดยการออมเงินตัวเอง และรัฐบาลจ่ายสมทบให้ตามขั้นบันได เมื่อครบกำหนดผู้ออมจะได้รับเป็นเงินบำนาญดำรงชีพไปตลอดชีวิต
ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ อาจารย์ โครงการจัดตั้งวิทยา เขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ผลักดันการส่งเสริมการออมสำหรับวัยเกษียณ ในระดับชุมชน กล่าวว่า กอช. เป็นกลไกการสร้างบำนาญชีวิต เป็นบริการของรัฐขั้นพื้นฐานที่มีให้ แต่ยังขาดการรับรู้ว่า มีกองทุนนี้อยู่ ประกอบกับการขับเคลื่อนของ กอช. ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง การประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงทุกคนจึงเป็นไปได้ยาก ทำให้มีคนอีกเยอะที่ไม่รู้จัก กอช.
กอช. เป็นกองทุนการออมที่เปิดโอกาสให้ผู้มีอาชีพอิสระ ไม่ต้องเป็นลูกจ้างในระบบสามารถมาสมัครเข้าร่วมการออมกับ กอช. ได้ โดยมีเบี้ยการออมขั้นต่ำน้อยมากเพียง 50 บาท รัฐจะจ่ายเงินสมทบตามระดับอายุของสมาชิก คือ 15-30 ปี 50%, 30-50 ปี 80% และ 50 ปีขึ้นไป 100% โดยมีสิทธิรับเงินเมื่ออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี ลาออกจากกองทุน และเสียชีวิต จึงอยากให้ทุกคนได้เข้าร่วมออมเงินกับ กอช. หรือเป็นสมาชิกผู้ประกันตน ม.40 จะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทำควบคู่กันก็ได้ ซึ่งอย่างน้อยจะเป็นหลักประกันให้กับชีวิตได้ในอนาคต
ล่าสุดได้เข้าไปส่งเสริมการออมเพื่อความมั่นคงยามชราภาพ ในพื้นที่ ต.เขาทอง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพอิสระ รับจ้าง และเป็นเกษตรกรมากถึง 80% ซึ่งที่นี่ยังขาดการรับรู้เรื่องของการสร้างบำนาญชราภาพ และละเลยการออมเงินเพื่อไว้ใช้ในยามชรา โดยคนในชุมชนส่วนใหญ่จะมีแค่เงินออม "ฌาปนกิจ" ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเงินออมสำหรับใช้จ่ายในวัยชราได้
"จึงขอรับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้ชาวชุมชนตำบลเขาทอง ตระหนักและเห็นความสำคัญของการทำประกันสังคม ม.40 และออมเงินกับ กอช. เพื่อจะได้มีบำเหน็จ บำนาญ ไว้ใช้ตอนแก่ ผ่านการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ"
สุทัน จั่นเทศ กรรมการวิทยุชุมชน ต.เขาทอง จ.นครสวรรค์ และเป็นผู้จัดรายการ กล่าวว่า วิทยุชุมชนตำบลเขาทองมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง ได้ร่วมกับโครงการในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยมีบทวิทยุ ซึ่งมีเนื้อหาการออมเงินเผยแพร่ ซึ่งเปิดในทุก ๆ ต้นชั่วโมง ตั้งแต่ 08.00-17.00 น. นอกจากนี้ได้จัดสรรเวลาให้ทางโครงการเข้ามาจัดรายการสด รายการ "ใคร ๆ ก็มีบำเหน็จบำนาญได้" ในทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 13.00-14.00 น. เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ กอช. และ ประกันสังคม ม.40
สายทอง อินทรศักดิ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาทอง จ.นครสวรรค์ ฐานะแกนนำผู้ร่วมทำโครงการ กล่าวว่า ประชากรวัยแรงงานในพื้นที่ มีประมาณ 4,000 คน หรือคิดเป็น 80% ของประชากรทั้งหมดที่มีประมาณ 6,000 คน จากข้อมูลล่าสุดมีผู้สมัครเข้าร่วมออมเงินกับ กอช. เพียง 29 ราย เพราะทุกคนมองเป็นเรื่องไกลตัว และขั้นตอนยุ่งยากทั้งการสมัคร และการจ่ายเงิน ซึ่งเราได้ทำข้อตกลงกับธนาคารและประกันสังคมว่า หากมีผู้สนใจสมัคร หรือจ่ายเงินตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทางหน่วยงานทั้งสองก็พร้อมที่จะมาเปิดจุดให้บริการถึงที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้