สรุปผล 7 วันอันตราย ปีใหม่ 61

ที่มา : ไทยโพสต์


สรุปผล 7 วันอันตราย ปีใหม่ 61 thaihealth


แฟ้มภาพ


7 วันอันตรายปีใหม่ 61 อุบัติเหตุรวม 3,841 ครั้ง ตาย 423 ราย เมาแล้วขับสาเหตุหลัก มท.2 ปลื้มตัวเลขลดลงจากปีก่อน สะท้อนมาตรการรัฐมีประสิทธิภาพ ตร.โวประชาชนฝากบ้านเพิ่มไร้เหตุร้าย จับทำผิดจราจรกว่า 3 แสนครั้ง


 


โดยเมื่อ 4 ม.ค.61 ที่ผ่านมา ทางนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 โดยเปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 3 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 386 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 40 ราย ผู้บาดเจ็บ 402 คน


รมช.มหาดไทยสรุปว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 28.24 ขับรถเร็วเกินกำหนด และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 25.91 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 77.83 รถปิกอัพ 5.29 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 67.62 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 50.26 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 28.76


ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01–20.00 น. ร้อยละ 25.91 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,001 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,993 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 730,769 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 124,034 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 36,487 ราย ไม่มีใบขับขี่ 31,721 ราย สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (19 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครปฐม และอุบลราชธานี (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (21 คน)


ข้อมูลอย่างเป็นทางการมีสรุปว่า อุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (28 ธ.ค.60–3 ม.ค.61) เกิดอุบัติเหตุ 3,841 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 423 ราย ผู้บาดเจ็บ 4,005 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท นครนายก นราธิวาส น่าน ยะลา ระนอง และหนองบัวลำภู จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (139 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (17 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (145 คน) สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 43.66 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 25.23 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.91 รถปิกอัพ 6.84 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.21 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.54 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.29 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01–20.00 น. ร้อยละ 28.22


ที่น่าสนใจ ทาง รมช.มหาดไทยระบุว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 พบว่า จำนวนอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่การเดินทางของประชาชนเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่ามาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนที่ภาครัฐกำหนดมีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดตั้งจุดตรวจ การเพิ่มความเข้มข้นของด่านชุมชน และการกวดขันวินัยจราจร รวมถึงความร่วมมือในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสร้างความปลอดภัยในการเดินทางอย่างต่อเนื่อง เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและลดปัจจัยเสี่ยงที่ครอบคลุม ทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงผู้ขับขี่ ทั้งการเมาแล้วขับ การขับรถเร็ว การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พร้อมทั้งเร่งสร้างวินัยจราจรและวัฒนธรรมปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย ภายใต้การประสานพลัง “ประชารัฐ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนการสร้างการสัญจรอย่างปลอดภัย ซึ่งจะทำให้ถนนทุกสายเป็นเส้นทางแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน


ส่วนนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 แล้ว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงมุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยได้กำชับให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถอดบทเรียน ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในเชิงลึก รวมทั้งค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่


ถือเป็นเรื่องดีที่สถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่ที่ผ่านมา ภาพรวมสถิติลดลง อันแสดงให้เห็นว่า เมื่อทุกฝ่ายต่างร่วมมือกันรณรงค์และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เช่นเดียวกับที่ประชาชนเอง ก็ร่วมมือร่วมใจกัน ป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดกับตัวเองและคนอื่น สุดท้ายภาพรวมสถิติจึงลดลง แต่สำหรับผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บ ก็ต้องขอแสดงความเสียใจไว้ด้วย และหวังว่าในช่วงเทศกาลหยุดยาวครั้งต่อๆ ไป เช่น วันหยุดยาวสงกรานต์ สถิติอุบัติเหตุก็จะลดลงเช่นเดียวกัน

Shares:
QR Code :
QR Code