สระบุรีขับเคลื่อนการอ่าน พัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย

สปสช.เขต4 สระบุรี สานพลังภาคประชาชน ขานรับ การพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย ‘ด้วยการอ่าน’


สระบุรีขับเคลื่อนการอ่าน พัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย  thaihealth


วันที่ 20 พ.ย. 2558 เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขต 4 สระบุรี ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน จัดประชุมโครงการสานพลังภาคีการสร้างเสริมศักยภาพ พัฒนาการ และสุขภาพเด็กปฐมวัยด้วยนิทาน หนังสือ และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4 สระบุรี  โดยมีคณะทำงานพัฒนาเด็ก  ตัวแทนครูศูนย์พัฒนาเด็ก  ผู้แทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน กศน. และเทศบาลท้องถิ่น จาก 6 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี และอ่างทองให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 40 คน


นางมีนา  ดวงราษี ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน  กล่าวว่า จากการทำโครงการเพื่อพัฒนาการอ่านในกลุ่มเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหลายแห่งของ สปสช. เขต 9 พบว่า หนังสือภาพและนิทานส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน โดยสังเกตได้ว่า เด็กสามารถควบคุมอารมณ์และดูแลตัวเองได้ดีขึ้น  นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ดูแลเด็กมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการสร้างเสริมสุขภาวะให้แก่เด็กปฐมวัย  อย่างไรก็ตามยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกหลายแห่งที่ยังไม่มีแผนการสร้างเสริมการอ่านให้แก่เด็กอย่างชัดเจนจึงอยากขยายผลความร่วมมือไปยังพื้นที่ต่างๆให้มากขึ้น


นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า เห็นความสำคัญอย่างมากว่าเด็กเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยการพัฒนาเด็กที่แท้จริงควรเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาและโดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยซึ่งการส่งเสริม นิทาน หนังสือภาพ และบทเพลง ให้เด็กไม่เพียงก่อให้เกิดประโยชน์แก่เด็กๆแต่ยังส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาวด้วย สอดคล้องกับ นายยงยุทธ เอี่ยมฤทธิ์ หัวหน้างาน สปสช. เขต 4 สระบุรี ที่กล่าวว่า กลุ่มเด็กปฐมวัยเป็น 1 ใน 5 กลุ่มเป้าหมายที่ สปสช. ให้ความสำคัญจนมีนโยบายและให้งบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังเชื่อว่า การอ่านหนังสือภาพและนิทานไม่เพียงส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก แต่หากสามารถบูรณาการความรู้เรื่องสุขภาพและการป้องกันโรคจะช่วยปลูกฝังสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็กได้อีกด้วย 


นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านได้รณรงค์ให้พื้นที่ต่างๆเห็นถึงความสำคัญของการใช้หนังสือภาพเพื่อพัฒนาเด็ก โดยยิ่งทำงานยิ่งพบว่า หนังสือภาพและหนังสือนิทานส่งผลต่อเด็กอย่างน่ามหัศจรรย์ เช่นตัวอย่างจากพื้นที่จังหวัดยโสธร ซึ่งมีเด็กที่เกิดจากพ่อและแม่ที่เป็นใบ้ แต่ด้วยความร่วมมือของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต) โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)มาช่วยอ่านหนังสือให้เด็กฟังอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เด็กมีพัฒนาการเป็นไปตามปรกติและยังขยายผลก่อให้เกิดอาสาสมัครอ่านหนังสือในหมู่บ้านมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ที่จังหวัดระนอง ความร่วมมือของกลุ่มระบัดใบ- องค์กรพัฒนาเด็กเอกชนกับอสม. ยังก่อให้เกิดห้องสมุดประจำหมู่บ้านที่เปิดทำการ 24 ชั่วโมง ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญของการอ่านมากขึ้น การสร้างเสริมการอ่านให้แก่เด็กปฐมวัยในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กในพื้นที่จึงมีความสำคัญมาก


นางอรณี น้อยเจริญ จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลบางพูน ศูนย์ 1 เล่าว่า ตนอ่านหนังสือให้เด็กฟังตามหลักสูตร ส่วนหนังสือนิทานอื่นๆยังขาดอีกมาก จึงแก้ไขปัญหาด้วยการไปจัดหามาเอง นอกจากนี้ยังไม่มีความร่วมมือระหว่างครูศูนย์เด็กเล็ก อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน และศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เพื่อพัฒนาการอ่านให้แก่เด็กๆ เพราะไม่พบว่า มีการจัดประชุมเพื่อระดมความเห็นและสร้างความร่วมมือเช่นนี้มาก่อน


นางรัตนา จุลวงษ์ คุณครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลบางพูน ศูนย์ 2 กล่าวว่า เห็นประโยชน์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลว่าสามารถนำมาพัฒนาเด็กปฐมวัยได้แต่ส่วนตัวไม่ทราบว่าจะติดต่อขอรับการสนับสนุนได้อย่างไรเพราะไม่มีความรู้ในเรื่องนี้  เช่นเดียวกับ นายชัยภาดิษฐ์  โฉมไสว ผอ. กองศึกษา เทศบาลตำบลหนองม่วง อำเภอหนองม่วง จ. ลพบุรีที่กล่าวเสริมว่าหากต้องการประสานขอรับการสนับสนุนจาก สปสช.ก็ไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นอย่างไร


หลังจากผู้เข้าร่วมช่วยกันสะท้อนและแลกเปลี่ยนถึงความสำคัญของการอ่าน ปัญหาและอุปสรรคของการส่งเสริมการอ่านให้แก่เด็กปฐมวัย โดยเฉพาะความประสงค์ที่จะใช้สิทธิเพื่อเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ คณะผู้เข้าร่วมประชุมจึงนัดหมายที่จะได้จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความสำคัญของการใช้หนังสือภาพและการอ่านเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและร่วมวางแผนให้เกิดการดำเนินโครงการและจัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้


 


 


ที่มา: แผนสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน


 

Shares:
QR Code :
QR Code