“สยามเมืองยิ้ม แต่ชาวไทยมีสุขเพียงใด?”
องค์การสหประชาชาติ (The United Nations) ประกาศให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันความสุขสากล” (The International Day of Happiness) โดยเชิญชวนประเทศสมาชิกทั่วโลกให้ความสำคัญกับความสุขในฐานะที่เป็นเป้าหมายพื้นฐานของชีวิต และเสนอให้กำหนดเรื่องของความสุข เป็นวัตถุประสงค์สำคัญของนโยบายสาธารณะด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นไปเพื่อความผาสุกของประชาชนโดยรวม ก่อให้เกิดความเป็นธรรม และพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตทางสังคม
ในประเทศไทย อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แถลงข่าว เชิญชวนคนไทยร่วมสร้างสุข โดยเข้าใจเรื่องของความสุข และสามารถปฏิบัติตนให้ชีวิตมีความสุขได้รับวันความสุขสากล และเกิดความสุขได้ตลอดปี ตลอดชีวี พร้อมสุขได้ในครอบครัว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวแจ้งให้ที่ประชุมทราบ จาก “รายงานว่าด้วยความสุขโลก” ของสหประชาชาติ ที่ได้สำรวจระดับความสุขใน 156 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า ความร่ำรวยเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งของความสุขเท่านั้น ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ประกอบรวมกันที่ทำให้คนเรามีความสุข เช่น เสรีภาพทางการเมือง ความเข้มแข็งของเครือข่ายสังคม การไม่มีคอร์รัปชั่น ส่วนความสุขในระดับบุคคล การมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีความมั่นคงในอาชีพการงานและครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญของการมีความสุข
ซึ่งประเทศไทยมีความสุข อยู่ในลำดับที่ 52 ของโลก มีความสุขเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน เป็นรองเพียง สิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับที่ 33 และมาเลเซีย ที่อยู่อันดับที่ 51 นอกจากนี้ ยังมีระดับความมีอารมณ์ดี เป็นลำดับที่ 8 ของโลก มีระดับการมีอารมณ์เสียน้อย เป็นลำดับที่ 14 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีพื้นฐานทางจิตใจที่เป็นสุข แต่ยังจำเป็นต้องพัฒนาประเทศเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดี ตามปัจจัยความสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก ได้แก่ รายได้ การมีงานทำ ความสัมพันธ์ที่ดีและความไว้วางใจกันในชุมชน การมีค่านิยมที่เอื้อต่อความสุขและศาสนา สุขภาพกาย สุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว การศึกษา และความเท่าเทียมทางเพศและสังคม
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทย กรมสุขภาพจิต ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันวัยประชากรและสังคม สำรวจข้อมูลความสุขคนไทยต่อเนื่องมา 5 ปี พบแนวโน้มคนไทย มีระดับความสุขเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง โดยมีความขัดแย้งทางการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจปัจจัยลบที่สำคัญ
นอกจากนี้ พบว่า ครอบครัวที่มีเวลาให้กันอย่างเพียงพอ การมีสุขภาพดี ออกกำลังกายประจำ ปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา การทำสมาธิ การมีรายได้ดี การงานมั่นคง ไม่มีหนี้สินนอกระบบ เกษตรกรมีที่ดินทำกิน เป็นปัจจัยความสุขสำหรับคนไทยเช่นเดียวกัน ขณะที่ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว ครอบครัวหย่าร้าง หรือมีสมาชิกเสพยาเสพติด ติดสุรา ผู้พิการ แรงงานรับจ้างรายวัน เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลช่วยเหลือจากชุมชนและสังคม
นอกจากนี้ ยังพบว่า แนวโน้มความสุขคนไทยที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การที่ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุในสัดส่วนที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ความสุขของผู้สูงอายุเกี่ยวข้องกับปัจจัยสำคัญของชีวิต ได้แก่ การมีรายได้หรือเงินทองสำหรับจับจ่ายใช้สอย การมีสุขภาพดี มีความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชนที่ดี รู้สึกมีคุณค่า ตลอดจนได้เข้าถึงธรรมะ ผู้ที่ยังอยู่ในวัยทำงาน จึงควรจัดเตรียมต้นทุนด้านสุขภาพ การเงิน สายสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดี เนื่องจากจะมีผลต่อความสุขในระยะยาวของชีวิต
โดยหากมีผู้สูงอายุในบ้าน ควรเปิดโอกาสให้ท่านได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จะสร้างสายสัมพันธ์และความรู้สึกมีคุณค่า นอกจากนี้ การศึกษาและปฏิบัติธรรมนับเป็นปัจจัยความสุขสำคัญของผู้สูงอายุที่ควรเข้าถึงตั้งแต่ในวัยทำงานด้วยเช่นกัน ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้สนับสนุนชมรมผู้สูงอายุที่มีอยู่ทั่วประเทศ ให้มีกิจกรรมความสุขและปรับพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อเติมความสุขให้กับประชากรกลุ่มสำคัญนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์