สมุดทำมือ แปลงกระดาษเก่าเป็นของใหม่
เศษกระดาษใช้แล้วมักถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ขยะเหลือใช้ที่รอการทิ้งหรือชั่งกิโลขาย แต่สำหรับนักดีไอวายจอมครีเอคกลับมองว่ากระดาษเหล่านี้เป็นวัสดุชั้นดีในการรังสรรค์งานประดิษฐ์ ที่เพิ่มมูลค่าจากของใกล้ตัวเลยทีเดียว เป็นอีกหนึ่งวิธีรักโลกด้วยการลดปริมาณขยะ รักษาสิ่งแวดล้อม
เพื่อเป็นการสร้างสรรค์ไอเดียจากสิ่งของเหลือใช้ ทางศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด “กิจกรรม D.I.Y สมุดทำมือ” ด้วยการเปลี่ยนกระดาษรียูสไม่น่าใช้ ให้กลายเป็นสมุดทำมือสุดแสนน่ารักเหมาะแก่การหยิบใช้ ตามความชอบของแต่ละคน ณ โซนกิจกรรมชั้น 5 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์
เบล สุวรรณา ศรีนุตพงษ์ นัก D.I.Y. จาก Sook Magazine บอกว่า การทำสมุดทำมือเป็นการเอากระดาษเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ จากไอเดียที่ว่าไม่มีอะไรเป็นขยะ ซึ่งกระดาษที่เราเอามาทำ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษใช้แล้ว ซองจดหมาย ซองเอกสาร ใบปลิว ถุงกระดาษ หนังสือพิมพ์ หรืออะไรก็ตามที่เป็นกระดาษสามารถนำมาใช้ได้หมดเลย ซึ่งกระดาษเหล่านี้ตามสำนักงานหรือบริษัทต่างๆ จะมีเยอะมาก เราสามารถจะเก็บรวบรวมมาทำเป็นสมุดทำมือได้ โดยวิธีการทำก็ง่ายมาก ทุกๆ คนสามารถทำเองได้ที่บ้าน และมีความน่าพกพาหยิบมาใช้
โดยวิธีการทำสมุดทำมือที่มาสาธิตในกิจกรรมครั้งนี้จะมี 2 แบบ คือ สมุดที่เย็บแบบมุงหลังคาและ 2 สมุดแบบญี่ปุ่น ซึ่งความแตกต่างอยู่ที่การเปิดของสมุด คือเย็บแบบมุงหลังคาสามารถเปิดกางสมุดได้สุดกระดาษ มีเนื้อที่ในการเขียนมากกว่าการเย็บแบบญี่ปุ่น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนที่จะเลือกประดิษฐ์แบบไหน และในส่วนของการตกแต่งหน้าปกให้สวยงาม ผู้ร่วมกิจกรรมสามารถใช้เศษผ้าด้าย รูปภาพ ลวดลาย สติกเกอร์ หรือตัวหนังสือจากนิตยสารมาตกแต่งได้ตามความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน
ด้าน บัว วรรณประภา ตุงคะสมิต นัก D.I.Y. จาก Sook Magazine กล่าวว่า ไม่เพียงแค่ผู้ร่วมกิจกรรมจะได้สมุดโน้ตเล่มใหม่จากเศษวัสดุไว้ใช้งานแล้ว สิ่งสำคัญคือยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะ จากปริมาณกระดาษเหลือใช้หรือวัสดุทิ้งๆ ขว้างๆ ในบ้านหรือสำนักงานนำมาใช้เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งใหม่ที่นำมาใช้ได้อีกครั้ง และมีส่วนในการปลูกจิตสำนึกที่ดีในการคิดทุกครั้งก่อนที่จะทิ้งขยะ ให้รู้จักคุณค่าของสิ่งของเหลือใช้ที่สามารถนำมาทำประโยชน์ได้อีก อีกทั้งการทำงานดีไอวายยังได้ประสบการณ์จริงจากการลงมือทำ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และยังช่วยฝึกสมาธิ สติ นิสัยให้เป็นคนใจเย็นอีกด้วย
ด้านนักดีไอวาย น้องพรีเมียร์ บุณยนุช ตรีระพงศ์พิชิต อายุ 16 ปี เล่าว่า ชอบกิจกรรมในวันนี้ เพราะเป็นการนำของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ แล้วสมุดบันทึกที่ทำขึ้นหากตกแต่งดีๆ ก็สวย น่าใช้มากขึ้น แล้วยังทำเป็นของขวัญให้กับเพื่อนๆ ได้อีกค่ะ
น้องวินนี่ ณัชชา ศรีรัตนสมบุญ อายุ 16 ปี บอกว่า พอดีเห็นกิจกรรมจึงชวนกลุ่มเพื่อนให้เข้าร่วมดู ซึ่งเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและมีประโยชน์มากๆ ด้วยการทำของใช้จากเศษวัสดุที่มีอยู่ อย่างพวกเศษกระดาษต่างๆ และที่บ้านวินนี่เองก็มีกระดาษเหลือใช้เยอะ ตั้งใจว่าพอเรียนรู้วิธีทำสมุดโน้ตแล้วจะนำไปฝึกทำต่อที่บ้านเพิ่มเติมด้วยค่ะ
น้องแพร พรฤทัย สุวรรณเทวรัตน์ อายุ 16 ปี เผยว่า กิจกรรมวันนี้สนุกมาก เพราะหนูชอบทำงานศิลปะอยู่แล้ว และยังเป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์ในการนำของเหลือใช้มาทำเป็นสมุด แม้จะยังงงๆ กับวิธีทำอยู่บ้าง แต่พี่วิทยากรก็มาแนะนำอย่างใกล้ชิด ก็เลยพอทำได้ หากฝึกทำบ่อยๆ คงเย็บสมุดโน้ตได้สวยยิ่งขึ้นค่ะ
น้องแอนนา วีรสุดา ศรีรัตนสมบุญ อายุ 16 ปี เล่าว่า การทำสมุดทำมือวันนี้สนุกดีค่ะ หนูได้รับความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน อย่างการเย็บสมุดแบบญี่ปุ่นหนูคิดว่ามันยาก แต่พอทำดูก็ไม่ยากมากแถมยังน่ารัก ทำให้หนูได้สมุดเล่มใหม่มาใช้อีกด้วย เป็นกิจกรรมดีๆ ที่มีประโยชน์มากๆ เลยล่ะค่ะ.
การเย็บสมุดแบบมุงหลังคา
อุปกรณ์ กระดาษ แผ่นยางรองตัด คัตเตอร์ เหล็กเจาะกระดาษ กรรไกร ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด เชือกหรือไหมพรม เข็มปักครอสติช เบอร์ 18 คลิปหนีบกระดาษ
ขั้นตอนการทำ
1.ตัดกระดาษตามขนาดที่ต้องการ
2.วัดตำแหน่งกึ่งกลางของกระดาษ แล้วจุดตำแหน่งฝีเข็มจากกึ่งกลางเล่มออกไปเป็นระยะเท่าๆ กัน
3.นำกระดาษที่ตัดไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งปกและไส้กระดาษมาหนีบรวมกัน แล้วเจาะกระดาษตามตำแหน่งที่จุดไว้
4.เริ่มเย็บจากจุดกึ่งกลางของกระดาษด้วยเชือกและเข็มโดยไม่ต้องมัดปม
5.ทิ้งปลายเชือกไว้ในสันปกด้านใน ประมาณ 3-4 นิ้ว เพื่อไว้ผูกมัดปมตอนจบงาน
6.เย็บแบบด้นถอยหลัง จะเย็บไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวาก่อนก็ได้
7.วนเข็มกลับมาที่กึ่งกลาง
8.เย็บแบบด้นถอยหลังกับอีกด้านหนึ่งเช่นกัน
9.วนเข็มกลับขึ้นมาที่จุดกึ่งกลาง
10.ทำการวนเข็มมัดปม แล้วสอดเข็มกลับเข้าไปด้านใน
11.นำปลายเชือกอีกข้างมาผูกกับปลายเชือกที่ปล่อยทิ้งไว้ในตอนต้น แล้วตัดปลายเชือกที่เหลือออกให้เรียบร้อย
12.พับครึ่งสมุดแล้วนำไปทับด้วยของหนัก เพื่อให้สมุดพับอยู่ทรง
13.ในส่วนของการตกแต่งปกสมุดสามารถทำได้ทั้งก่อนเย็บและหลังเย็บ แต่โดยส่วนตัวแล้วแนะนำให้ตกแต่งปกให้เรียบร้อยก่อนเย็บจะสะดวกว่าค่ะ
การเย็บสมุดแบบญี่ปุ่น
ขั้นตอนการทำ
1.ตัดกระดาษให้ได้ขนาดที่ต้องการ แล้วมากำหนดจุดที่จะเจาะกระดาษ ด้วยการนำกระดาษที่ตัดออกมาเรียบร้อยแล้วพับเป็น 4 ส่วนทางแนวนอน และพับขอบทางแนวตั้งเข้ามาประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร เราจะได้จุดตัดของรอยพับ ซึ่งบริเวณนั้นจะเป็นจุดของตำแหน่งที่เราจะเจาะกระดาษ
2.หลังจากนั้นนำดินสอมาจุดบริเวณจุดตัดของรอยพับกระดาษให้ชัดเจน แล้วนำไปทาบกับกระดาษ นำเหล็กหนีบกระดาษมาหนีบให้แน่น แล้วทำการเจาะรูให้เรียบร้อย
3.เริ่มทำการเย็บโดยการสอดเข็มเข้าไปที่รูแรกโดยไม่ต้องมัดปม
4.ทิ้งปลายเชือกไว้ประมาณ 3-4 นิ้ว เพื่อไว้ผูกมัดปมตอนจบงาน
5.วนเข็มไปทางสันปกด้านข้างแล้วสอดกลับเข้ารูเดิม
6.แล้วแทงเข็มลงรูที่ 2 แล้ววนเข็มไปทางสันปกด้านข้างแล้วสอดเข้ารูเดิม
7.แทงเข็มขึ้นที่รูที่ 3 แล้ววนเข็มไปทางสันปกด้านข้างแล้วสอดเข้ารูเดิม
8.จากนั้นวนเข็มไปทางสันปกอีกข้างแล้วสอดเข้ารูเดิม
9.นำเข็มสอดเข้ารูที่ 2
10.สอดเข็มขึ้นรูที่ 1
11.จากนั้นวนเข็มไปทางสันปก
12.แล้วสอดกลับขึ้นมาที่รูที่ 1 แล้ววนเข็มเพื่อมัดปม แล้วสอดเข็มกลับเข้าไปด้านใน
13.แล้วนำปลายเชือกอีกข้างมาผูกกับปลายเชือกที่ปล่อยทิ้งไว้ในตอนต้น แล้วตัดปลายเชือกที่เหลือออกให้เรียบร้อย
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์