สมัชชาเพื่อการปฏิรูปได้เวลาลงมือปฏิบัติ
มุ่งมั่นเน้นความยั่งยืนของเป้าหมาย ดำเนินการในรูปแบบ “ขอแรง”
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่า วันนี้..เวทีปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะของคนไทย โดยเครือข่ายสถาบันทางปัญญา ซึ่งทำงานกันอย่างเงียบๆ ค่อยเป็นค่อยไป เพราะมุ่งมั่นเน้นความยั่งยืนของเป้าหมาย และดำเนินการในรูปแบบ “ขอแรง” หรือเป็น “จิตอาสา” ที่ป็นอิสระไม่มีใครเป็นหัวหน้า ไม่มีใครเป็นลูกน้องแต่ใช้การระดมสมอง ประมวลความคิดเห็นของทุกคนที่มีประสบการณ์ในแต่ละด้าน และมีความเป็นห่วงต่ออนาคตของประเทศไทยนั้น… มาถึงกาลปัจจุบัน กลับกลายเป็นเวทีที่ฮอตฮิตอินเทรนด์ไปเสียแล้ว
มิใช่เพียงจำนวนผู้สนใจเพิ่มมากขึ้นในแต่ละครั้งเท่านั้น ที่สะท้อนถึงความสำคัญของเวทีนี้ ประเด็นของการประชุมอันเกิดจากวิสัยทัศน์ของเวทีนี้นี่แหละที่ทำให้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สอดคล้องกับถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เพิ่งประกาศแผนการปรองดองแห่งชาติไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง
จะเป็นความบังเอิญ หรือเป็นการลอกการบ้านหรือเปล่าก็ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ เพราะหัวใจของเรื่องคือประเทศไทยได้เวลาต้องเปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะไม่มีโอกาส
จุดเริ่มต้นของเวทีปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทยนี้คือ แนวคิดให้ทุกฝ่ายลงมือปฏิรูปจากจุดเล็กๆ ในครอบครัว ในชุมชน ในองค์กร ในหมู่บ้าน ในตำบล ขยายสู่ระดับจังหวัด ภูมิภาค และจะเป็นจิ๊กซอว์ต่อรูปต่อร่างเป็นระดับชาติในที่สุด คิดและทำคนละไม้คนละมือ ทำในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อสังคมที่ตัวเองอาศัยอยู่ โดยไม่ต้องคาดหวัง หรือรอคอยให้อำนาจรัฐ หรือใครยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ วิสัยทัศน์หรือการมองข้ามช็อตจากวิกฤตประเทศไทยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาทำให้คนที่เป็นห่วงอนาคตของชาติตระหนักรู้และเข้าใจตรงกันว่า “ปฏิรูปการเมือง” เพียงอย่างเดียวไม่อาจนำพาประเทศไทยสู่ทางรอด ตราบเท่าที่องคาพยพด้านอื่นๆ อย่าง การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ ไม่ได้ขับเคลื่อนปฏิรูปพร้อมกันไปด้วย
ปฏิรูปการเมืองจากบนสู่ล่าง หรือจากส่วนกลางลงไปในระดับท้องถิ่น กระทำได้แค่เป็นแผ่นกระดาษ ทำให้เกิดภาพทะเลาะกันไม่รู้จบ เพราะนักการเมืองยังคงเห็นแก่ตัวและไม่มีจิตสำนึก
การแสดงเจตนาของรัฐบาลในปัจจุบันที่จะดำเนินการปฏิรูปปรเทศไทยภายใต้แผนการปรองดองแห่งชาติจึงเป็นเรื่องดี ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสมัชชา คณะกรรมการหรือองค์กรใดๆ ก็ตาม เพราะสำคัญที่การปฏิบัติและความต่อเนื่อง
ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องยากสำหรับการปฏิรูป หากรัฐบาลจริงใจอย่างน้อย”โรดแม็ป” จากวิสัยทัศน์ในเวทีปฏิรูปประเทศไทยฯ ก็เดินหน้าเป็นระบบให้รัฐยื่นมือเข้ามาสานต่อและผลักดันได้โดยทันที เพราะเวทีนี้ตั้งเข็มทิศไว้ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดและคนไทยมีสุขภาวะ
ความสุขที่พึงปรารถนานั้นก็มีการกำหนดลักษณะไว้ 5 ประการ คือ 1) ประเทศแห่งความพอเพียง โดยการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ โดยสัมมาชีพนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองสงบสุข 2)ประเทศแห่งความดี เช่น มีน้ำใจ มีความปลอดภัย มีความยุติธรรม มีสันติภาพ และมีธรรมาภิบาล เป็นต้น 3) ประเทศแห่งความงาม ศิลปะวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม 4) ประเทศแห่งปัญญา สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติ เนื่องจากเป็นสังคมแห่งอำนาจนิยม เป็นสังคมการเรียนรู้น้อย ดังนั้นสังคมไทยจำเป็นต้องปรับจากสังคมแห่งอำนาจนิยมไปสู่สังคมแห่งปัญญานิยม ซึ่งปัญญานิยมนี้ควรเป็นวิสัยทัศน์ใหญ่ของประเทศไทยและ 5)ประเทศแห่งสุขภาวะ ทั้งทายจิต สังคม และปัญญา
ทั้งหมดนี้ เป็นเบญจคุณ ได้แก่ พอเพียง ดีงาม ปัญญาและความสุขไม่แตกต่างกันในหลักการเลยใช่ไหมครับ สำหรับสมัชชาเพื่อการปฏิรูปที่รัฐบาลกำลังฟอร์มทีม หรือรวบรวมคนเข้าไปทำการขับเคลื่อนการปฏิรูปตามแผนการปรองดองแห่งชาติ 5 ข้อของนายกฯ อภิสิทธิ์ให้เป็นจริง ส่วนรายละเอียดจะเดินตามยุทธศาสตร์ 10 หัวข้อที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้ตั้งตุ๊กตาไว้หรือไม่อย่างไรนั้นคงไม่มีใครห้าม ขอเพียงแต่ต้องมีจิตสำนึกบนเนื้อแท้แห่งความจริงใจว่า
ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลง!เมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ใครจะมาเป็นผู้ปกครอง เป็นประเด็นที่ต้องไม่เอามาเป็นเงื่อนไข เหมือนอย่างเวทีปฏิรูปประเทศไทยฯ ซึ่งประชุมาเป็นเวลาปีเศษแล้ว ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่เป็นเจ้าภาพก็ไม่เคยเอามาอวดอ้างว่าเป็นผลงานขององค์กรตนเอง หรืออาจารย์ หมอประเวศ ก็ไม่คิดที่จะรวบรัดตัดตอนว่า “ฝีมือของผมครับ”
หากทุกฝ่ายสามารถละ วาง ความคิด หรือการคำนวณเป็นตัวเลขผลประโยชน์ว่า ปฏิรูปแล้วฉันได้อะไรบ้าง ฉันจะเสียอะไรหรือเปล่าปัญหาที่เราพบทุกวันนี้หรือเห็นนักการเมืองตีกันแล้วใช้ประชาชนเป็ฯเหยื่อคงไม่เกิดแน่นอน
ผมค่อจข้างแน่ใจว่า ด้วยประสบการณ์ของผู้ที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนสมัชชาการปฏิรูปประเทศไทย คงรู้อยู่แล้วว่า การปฏิรูปจะให้เป็นจริงต้องทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย “ปฏิรูปแต่ปาก”
ถ้าไม่รู้จริงๆ ข้อเสนอแนะของอาจารย์บุญเลิศ มาแสง นักวิชาการด้านการศึกษาในเวทีปฏิรูปประเทศไทยฯ น่าสนใจนำไปศึกษาคิดต่อนะครับ เพราะท่านบอกว่า การปฏิรูปนั้นไม่ควรลืมองค์ประกอบ 3 ประการ นั่นคือ ประการแรก ต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมโลกประการที่สองต้องใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศและประการสำคัญ ต้องมีประชาชนที่มีความรู้ในการขับเคลื่อนกลไกทั้ง 2 ประการข้างต้น
นั่นก็คือ การศึกษาของคนในประเทศต้องตอบโจทย์การปฏิรูปให้ได้ ผมว่า การปฏิรูปการศึกษาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ด้วยการเรียนฟรี 12 ปี ด้วยการเปิดช่องติวเตอร์ชาแนลให้เด็กๆ เอาไปแข่งขันสอบเอาชนะกันและกันนั้น คงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องของการปฏิรูปแน่นอน หากเราอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลง
ฉะนั้น สมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ได้เวลาลงมือเมื่อไหร่ผมคนหนึ่งล่ะจะตามไปดู ทั้งด้วยความหวัง การให้กำลังใจ และตรวจสอบตามหน้าที่…ขอรับกระผม
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Update: 14-05-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร