สมดุลงานกับครอบครัว พ่อแม่ยุคใหม่สร้างได้

ที่มา : SOOK Magazine No.70


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


สมดุลงานกับครอบครัว พ่อแม่ยุคใหม่สร้างได้ thaihealth


ปัจจุบันครอบครัวส่วนใหญ่ทั้งพ่อ แม่ทำงานทั้งคู่ เมื่อมีเจ้าตัวเล็กก็อาจจะแบ่งเวลาได้ไม่ดีพอหรือบางครั้งต้องไปฝากให้ ปู่ ย่า ตา ยายช่วยเลี้ยง ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน และชีวิตครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อ แม่ทุกคนสร้างได้ ขอเพียงใส่ใจและให้ความสำคัญ


แบ่งเวลาดูแลเจ้าตัวเล็ก


พ่อ แม่ที่ต้องทำงานทั้งคู่สามารถดูแลลูกในช่วงที่ยังเล็กได้ โดยหลังจากเลิกงานหรือนอกเวลางานเป็นเวลาของลูกทั้งหมด ควรรีบกลับบ้านเพื่อสร้างช่วงเวลาคุณภาพ (Quality Time) กับลูกให้มาก โดยช่วงที่สำคัญที่สุดคือ 5 ปีแรกเท่านั้น ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่เป็นทารก ช่วงเวลาคุณภาพนี้ไม่ต้องรอสามารถทำอะไรก็ได้ที่สนุกไปด้วยกัน อาทิ อ่านหนังสือภาพ, ปั้นดินน้ำมัน, เล่นทราย, เล่นสร้างบ้านด้วยผ้าห่ม, เล่นหยอกกัน, ทำอาหารและขนม, เดินเล่นรอบบ้าน, ดูแลสวน, เล่นน้ำ, เล่นดนตรี, ฟังนิทานพร้อมกัน, ร้องเพลง, ระบายสีน้ำ, วาดภาพ, ออกกำลังกาย เป็นต้น โดยเฉพาะวันหยุดถือเป็นวันของลูก ควรระลึกอยู่เสมอว่า เวลาในการดูแลลูกอย่างใกล้ชิดไม่นานอย่างที่คิด เพราะเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นเวลาที่ใช้กับพ่อแม่ย่อมลดลง กลายเป็นเวลาส่วนตัวที่อยู่กับตัวเอง เพื่อน ๆ รวมถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต


นอกจากนี้ถ้าลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ พ่อกับแม่ต้องทำให้เห็นด้วยการกระทำ นั่นคือ เลิกงานต้องรีบกลับมาอยู่กับลูก มีเวลาคุณภาพด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ ปรึกษากันในครอบครัวถึงสิ่งที่ต้องร่วมกันปรับเปลี่ยน เช่น การอยู่เป็นครอบครัว สร้างความใกล้ชิดกันมากขึ้น หรืออาจปรับเปลี่ยนลักษณะงานเพื่อให้มีเวลากับลูกมากขึ้น


อย่าให้ลูกไม่มีใครดูแล


ปัญหาส่วนใหญ่ของพ่อกับแม่เมื่อลูกอยู่ในวัยเรียน คือ ช่วงเวลาปิดเทอม เพราะขาดคนดูแล เนื่องจากต้องทำงาน สามารถแก้ปัญหาได้โดย


– พาลูกไปทำงานด้วยแล้วผลัดกันดูแล


– ส่งลูกไปโรงเรียนภาคฤดูร้อน


– ให้อยู่กับญาติผู้ใหญ่ซึ่งมีข้อดี คือ ไว้ใจได้ ปลอดภัย แต่ข้อเสียคือ แทนที่พ่อแม่ส่วนใหญ่จะฝากเลี้ยงกลายเป็นให้เลี้ยงเลยเสียมากกว่า


รู้ให้ทันผลเสียเมื่อพ่อแม่ไม่มีเวลา


หากพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูกเพราะต้องทำงานทั้งคู่ ผลเสียที่ตามมาจะเกิดขึ้นตามช่วงวัยของลูก ได้แก่


– วัยทารก-วัยเตาะแตะ (0-2 ปี) ส่งผลต่อการพัฒนาสายใยผูกพัน (Attachment) ทำให้กระทบต่อพัฒนาการทางจิตใจ อารมณ์ และบุคลิกภาพในระยะต่อไป ซึ่งการแสดงความรักในช่วง 2-3 ปีแรกของชีวิต จะช่วยให้ลูกเกิดความผูกพันที่ลึกซึ้งและมั่นคงกับพ่อแม่


– วัยเตาะแตะ-ก่อนวัยเรียน (2-5 ปี) ส่งผลต่อการพัฒนาการทางอารมณ์ การควบคุมตนเอง (Self-Control) ศีลธรรมความดีงาม (Moral) เพราะเป็นช่วงวัยที่เด็กจดจำและซึมซับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีที่สุด หากขาดการดูแลจากพ่อแม่อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง


– วัยเรียน-ก่อนวัยรุ่น (5-12 ปี) ส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) การควบคุมตนเอง (Self-Control) และการรู้หน้าที่ หากไม่ได้รับการดูแลจากพ่อแม่มากเพียงพอ อาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย


การที่เราสามารถสร้างความสมดุลระหว่างงาน และครอบครัวได้อย่างลงตัวนั้น จะทำให้ครอบครัวเป็นแรงผลักดันที่จะทำให้เราก้าวไปสู้ความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างที่ไม่ต้องเป็นกังวลใด ๆ

Shares:
QR Code :
QR Code