สพฉ. เปิดตัวชุดความรู้ “รู้แล้วรอด!” รับมือภัยพิบัติ

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและภาคี เปิดตัวชุดความรู้ “รู้แล้วรอด!” เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภาวะภัยพิบัติ เดินหน้านำร่องในโรงเรียน 6 ภูมิภาค พร้อมกระตุ้นเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจง่าย…

(20 พ.ย.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ และองค์การอนามัยโลก แถลงข่าว โครงการส่งมอบชุดความรู้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ “รู้แล้วรอด!” ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก เพื่อร่วมกันปลูกจิตสำนึกที่ดีด้านการรับมือกับภัยพิบัติให้เกิดแก่เยาวชนไทยในการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ

โดย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เปิดเผยว่าโครงการ “รู้แล้วรอด!”เป็นโครงการที่ สพฉ. จัดทำขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนทั่วประเทศในการเตรียมพร้อมให้สามารถเอาตัวรอดได้เมื่อเกิดภัยพิบัติรุนแรงซึ่งมีแนวโน้มว่าประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น รวมถึงการแบ่งปันและส่งต่อองค์ความรู้ไปยังประเทศต่างๆ ทั้งในเขตภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่นทั่วโลก เพื่อเป็นการสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศไทยได้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางเครือข่ายการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพและความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความช่วยเหลือทางด้านงานเพื่อมนุษยธรรมระหว่างประเทศในช่วงภัยพิบัติฉุกเฉินในอนาคต

“สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มุ่งให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจากภัยพิบัติ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมรู้สึกว่าคนไทยโชคดีที่ประเทศไม่เคยเกิดภัยพิบัติรุนแรงเลย แต่หลังจากเหตุการณ์สึนามิ และน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำให้เรารับรู้ว่าประเทศไทยไม่โชคดีอีกต่อไป ภัยพิบัติใหญ่ๆสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โครงการ “รู้แล้วรอด!”ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สิ่งสำคัญที่สุดต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุเรื่องนี้ไว้ในหลักสูตรการศึกษาเพื่อให้การให้ความรู้แก่เยาวชนเป็นไปอย่างมีระบบ” นพ.อนุชา กล่าว

นพ.ชากิ ซาฟิก เจ้าหน้าที่วิชาการด้านการให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษยธรรมในภาวะฉุกเฉิน องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าระหว่างปี 2544-2553 ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างมาก โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70,000 คน และประชาชนมากกว่า 200 ล้านคนได้รับผลกระทบ ตัวอย่างของอานุภาพความรุนแรงของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เช่น สึนามิเมื่อปี 2554 ในประเทศญี่ปุ่น และความเสียหายจากพายุไห่เยี่ยนที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปีนี้ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติจึงเป็นเรื่องสำคัญมากเพื่อลดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน  ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลกได้จัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างปี 2555-2559 และสนับสนุนแผนงานการจัดการทางด้านภัยพิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์นี้

ด้าน น.ส.วิภาวี คุณาวิชยานนท์ ผู้จัดการโครงการส่งมอบชุดความรู้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติรู้แล้วรอด กล่าวว่า  การจัดทำชุดความรู้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ “รู้แล้วรอด” มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักและการเผยแพร่ความรู้ในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในช่วง ก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัยพิบัติ โดยยึดหลักการศึกษาผสมผสานควบคู่ไปกับความบันเทิง ด้วยการสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน ผ่านสื่อสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้และเข้าใจได้โดยง่าย ภายในชุดความรู้ประกอบด้วย แผ่นพับคู่มือจิตอาสา แผ่นพับคู่มือกระเป๋ายังชีพ หนังสือคู่มือรับภัยพิบัติ (ฉบับพกพา) เกมกระดานเกมการ์ด และเกมตัวต่อ นอกจากนี้ยังได้จัดทำมาสคอตตัวละคร “ครอบครัวรู้แล้วรอด” ซึ่งจะออกเดินทางไปพร้อมกับรถบัสนิทรรศการเคลื่อนที่ เพื่อส่งมอบองค์ความรู้ให้กับเยาวชนในโรงเรียนนำร่อง 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2556

จากนั้น นายแสงไทย มีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ ได้ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับโรงเรียนนำร่องที่จะทำการรับมอบชุดความรู้ ทั้งหมด 16 แห่งทั่วประเทศ เพื่อนำชุดความรู้ไปใช้สอดแทรกกิจกรรมการเรียนการสอน รวมถึงการพัฒนาต่อยอดขยายผลโครงการ ฯ และขยายเครือข่ายเยาวชน ด้วยการเพิ่มจำนวนโรงเรียนและบุคลากรให้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น ซึ่งการสนับสนุนโครงการ ฯ ได้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนแบบองค์รวมคือ ไม่ใช่การเรียนเฉพาะในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว  แต่คาดหวังให้เยาวชนมีการพัฒนาที่สมบูรณ์รอบด้าน มีความคิดสร้างสรรค์ มีจิตอาสา เพื่อให้เป็นประชาชนที่มีคุณภาพในอนาคต

ทั้งนี้ภายในงานยังมีดารานำจากภาพยนตร์ “ทองเนื้อเก้า” มาร่วมแถลงข่าวและเรียนรู้การใช้สื่อ “รู้แล้วรอด!”  โดยชุดความรู้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ “รู้แล้วรอด!” ดำเนินงานภายใต้แผนงานการจัดการทางด้านภัยพิบัติ (who-rtg collaboration thematic area  “disaster management”) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก โดยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติรับผิดชอบบริหารแผนงาน

 

 

ที่มา : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

Shares:
QR Code :
QR Code