สปสช.อนุมัติยา รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


สปสช.อนุมัติยา รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง thaihealth


แฟ้มภาพ


แพทย์เผยข่าวดี บอร์ด สปสช. อนุมัติสิทธิประโยชน์ยาราคาแพง ช่วยผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด DLBCL หวังคนไทยเข้าถึงยาคุณภาพดี


ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา และประธานชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในปัจจุบันถือว่าสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญ ซึ่งโรคนี้ติด 1 ใน 5 ของโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อยในคนไทยปีละกว่า 3,000 ราย เฉลี่ย 8 ราย/วัน ทั้งนี้สภาวะของโรคดังกล่าวถือเป็นอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก โดยตรวจพบผู้ป่วยใหม่ถึงปีละ 80,000 ราย จึงกำหนดให้วันที่ 15 ก.ย.ของทุกปี ตรงกับ "วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก" เพื่อสร้างความตระหนักและหาทางป้องกันรักษา


นพ.ธานินทร์ กล่าวต่อว่า ในจำนวนนี้ผู้ป่วยคนไทยที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด นอนฮอดจ์กิน (Non-hodgkin Lymphoma : NHL) ชนิด Diffused large B-call lymphoma (DLBCL) ที่มีเป้า CD 20 เป็นบวก ซึ่งพบได้บ่อยในคนไข้มะเร็งถึง 50% อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20-30 ปี แต่เป็นชนิดที่รักษาให้หายขาดได้โดยไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก จึงกลายเป็นเหตุผลที่บอร์ดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เลือกอนุมัติให้ใช้ยา "Monoclonal antibody" โดยใช้คู่กับยาเคมีบำบัดสูตรมาตรฐาน ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิตเพิ่มขึ้นได้มากกว่าร้อยละ 30 อีกทั้งสิทธิการเข้าถึงยาฟรีราคาแพงดังกล่าว ยังครอบคลุมทั้ง 3 สิทธิรักษาพยาบาล ได้แก่ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทองอีกด้วย


อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทุกรายได้อย่างชัดเจน แต่พบความสัมพันธ์กับหลายภาวะ ได้แก่ อายุ เพราะอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น สูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 60-70 ปี เพศชายพบได้มากกว่าหรือการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่มีภาวะพร่องภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอสไอวี ผู้ป่วยเอสแอลอี และอาชีพที่สัมผัสสารเคมี จะเพิ่มความเสี่ยงก่อโรคดังกล่าวได้มากขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code