สปสช.บริการ‘บัตรทอง’ลดแพร่เชื้อเอดส์
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
สปสช.รุกบริการ ‘บัตรทอง’ ลดแพร่เชื้อ รณรงค์ให้ประชาชนเข้าถึงบริการรับคำปรึกษาและตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี เพื่อให้ทราบสถานะการติดเชื้อฯ และเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้เร็วขึ้น ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวี
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากปี 2548 ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ยาต้านไวรัสสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ รวมถึงการบริการตรวจเชื้อเอชไอวี ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคเอดส์ลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เป็นผลจากการพัฒนาระบบและบริการเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย องค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ จากข้อมูลรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 ได้รายงานผลการดำเนินงานด้านการบริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ พบว่า การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากในจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 295,858 คน มีผู้ป่วยที่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อถึงจำนวน 285,671 คน หรือร้อยละ 96.56 และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ได้รับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัส จำนวน 250,722 คน หรือร้อยละ 87.77 โดยเป็นจำนวนที่มากกว่าเป้าหมายตั้งไว้ ขณะที่ผู้รับยาต้านไวรัสสามารถกดปริมาณไวรัสลงได้มีจำนวน 184,953 คน หรือร้อยละ 73.77
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เมื่อดูข้อมูลผลการดำเนินงานเฉพาะในส่วนผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ รายใหม่ พบว่า ผู้ติดเชื้อเข้าถึงบริการได้รวดเร็วขึ้น สะท้อนจากข้อมูลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ รายใหม่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรงมาก หรือค่า CD4 ต่ำกว่า 100 cells/mm3 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 57.51 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 38.79 ในปี 2560 และผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานดีอยู่ หรือค่า CD4 มากกว่า 500 cells/mm3 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 2.61 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 13.93 ในปี 2560 ที่สอดคล้องกับนโยบายการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวี โดยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนได้รับยาต้านไวรันโดยไม่คำนึงถึงระดับ CD4 ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 และการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าถึงบริการรับคำปรึกษาและตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ทราบสถานะการติดเชื้อฯ และเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้เร็วขึ้น ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวี
สำหรับในปี 2561 นี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบเพื่อให้ สปสช.ดำเนินงานบริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมถึงการเดินหน้างานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ซึ่งจากข้อมูลในปี 2560 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 5,801 คน หรือเฉลี่ยวันละ 16 คน ยังเป็นอัตราการติดเชื้อรายใหม่ที่สูงไม่น้อย
“การจัดบริการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมถึงการจัดบริการป้องกันการติดเชื้อนั้น ไม่เพียงแต่มุ่งดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้ได้รับบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังเป็นการดำเนินงานที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 ให้บรรลุเป้าหมาย หยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยไม่ให้เป็นปัญหาสาธารณสุขภายในปี พ.ศ.2573 ด้วย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว