สปสช.บรรจุนวัตกรรมดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เข้าถึงยาขับเหล็กเพิ่ม
ที่มา: บ้านเมือง
แฟ้มภาพ
สปสช.ปี 2561 รุกดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมีย บรรจุนวัตกรรมยา “ดีเฟอร์ราซิร็อก” ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาขับเหล็กเพิ่ม ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมขยายครอบคลุมดูแลผู้ป่วยเพิ่ม 1.5 หมื่นราย
นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง หรือที่เรียกว่าชนิดพึ่งพาเลือด ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 600,000 คน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับเลือดอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก การให้เลือดและดูแลรักษาต่อเนื่องจะทำให้มีการเจริญเติบโตปกติ ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่การให้เลือดอย่างต่อเนื่องมีผลต่อผู้ป่วย ทำให้เกิดภาวะธาตุเหล็กที่เกินความต้องการของร่างกาย ก่อให้เกิดผลร้ายแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ ได้ เช่น ตับแข็ง ภาวะเบาหวาน และหัวใจวายได้ ดังนั้นในกระบวนการรักษาต่อเนื่องอย่างมีคุณภาพและความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงจึงต้องได้รับยาขับธาตุเหล็ก
ในอดีตผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมียส่วนใหญ่จะได้รับยาขับเหล็กชนิดฉีด ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังโดยใช้เครื่องช่วยฉีดยา 8–12 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้เด็กไม่ยอมรับการรักษาสม่ำเสมอเพราะต้องเจ็บปวดจากการฉีดยาและกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยในกลุ่มเด็กไม่สามารถดำรงชีวิตเหมือนเด็กคนอื่นได้ เช่น ไปโรงเรียน วิ่งเล่นกับเพื่อน เป็นต้น ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีจากการพัฒนายาดีเฟอริโพรน (Deferiprone) ซึ่งเป็นยาขับเหล็กชนิดกิน โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำให้ราคายาถูกลง ดังนั้นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงกำหนดให้สิทธิประโยชน์การรักษาโรคเลือดธาลัสซีเมียครอบคลุมยาดีเฟอริโพรน ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงมีส่วนหนึ่งที่มีภาวะแพ้ยาดีเฟอริโพรน มีผลข้างเคียงให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดข้อ การทำงานของตับผิดปกติ และระดับเอ็มไซม์ในตับเพิ่มขึ้น ทำให้แพทย์ต้องงดให้ยา ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะธาตุเหล็กเกิน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับยาดีเฟอร์ราซิร็อก (Deferasirox) ซึ่งเป็นนวัตกรรมยาที่มีราคาแพงกว่ามากแทนและต้องกินประจำทุกวัน ที่ผ่านมาจึงทำให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงการรักษาและทุกข์ทรมานจากภาวะความเจ็บป่วย