สปช.รับข้อเสนอปฏิรูปสื่อและการศึกษา
สปช. รับข้อเสนอปฏิรูปสื่อ-การศึกษา ปลูกฝัง เด็กเยาวชนเท่าทันสื่อ ใช้ประโยชน์จากสื่อเป็น ไม่ตกเป็นเหยื่อถูกชักจูง เร่งวางกลไกฐานปฏิรูป มั่นใจเห็นผลภายใน 1 ปี สสส.กระตุ้นสังคมตระหนัก มอบรางวัลสื่อสร้างสรรค์ เน้นสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงทางสังคม สร้างกำลังใจให้คนทำงานสื่อเด็ก เยาวชน ครอบครัว
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ มักกะสัน รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานในพิธีปิดงาน “มหกรรมสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ตอน เด็กบันดาลใจคิดได้ คิดเป็น” โดยสสส. ร่วมกับสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านภาคีเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์ หน่วยงาน โดยมีพิธีมอบรางวัล ประกาศเกียรติคุณส่งเสริมสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว 4 สาขา ได้แก่ 1. รางวัล สาขา Active Citizen จำนวน 15 โครงการ 2.รางวัลประกวดสื่อสร้างสรรค์ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน 3.รางวัล สาขาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ 21 ศูนย์ และ 4.รางวัล สาขาสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน 10 รางวัล
รศ.จุมพล กล่าวว่า กรรมาธิการปฏิรูปสื่อ ให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคสื่อ การเฝ้าระวัง ดูแลสื่อ และการรู้เท่าทันสื่อ โดยอยู่บนหลักการของ เสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ และการสร้างความเป็นพลเมือง การจัดงานครั้งนี้นับว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อเด็ก เยาวชน จะพัฒนาเยาวชนไทยให้คิดได้ คิดเป็น ปลูกฝังให้เด็ก เยาวชนเท่าทันสื่อ สามารถใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ ไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อ
“ข้อเสนอของภาคีเครือข่ายด้านสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ กว่า 200 องค์กร 5 ข้อ ก่อนหน้านี้ สปช. จะรับข้อเสนอไปพิจารณาในคณะกรรมาธิการทั้ง 3 ชุด คือ 1.คณะกรรมมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 2.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ และ3.คณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปวัฒนธรรม เพราะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับภารกิจของสปช. อยู่แล้ว โดยเฉพาะการเพิ่มหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ เรื่อง สื่อสร้างสรรค์ เท่าทันสื่อ ซึ่งเหล่านี้เป็นงานที่สปช.กำลังดำเนินการอยู่แล้ว อยู่ในขั้นตอนการหากลไก วิธีการ ซึ่งหลักของการปฏิรูปสื่อ และการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น อาจแบ่งเป็น 4 ระยะ ใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผลทั้งหมด เพราะต้องใช้เวลาในการทำงานพอสมควร การปฏิรูปไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แต่อะไรที่สามารถทำได้ทันทีจะเร่งให้เกิดผลรูปธรรมใน 1 ปี ที่สำคัญคือ สังคมทุกภาคส่วนต้องตระหนักเห็นความสำคัญเกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้ ”รศ.จุมพล กล่าว
ด้านนายดนัย หวังบุญชัย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า มอบรางวัล ประกาศเกียรติคุณส่งเสริมสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นการคัดเลือกผลงานการทำสื่อเพื่อเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ครอบครัว และชุมชน โดยแบ่งรางวัลเป็นสาขาต่างๆ และยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถนำเสนอแนวความคิดการสร้างสื่อสร้างสรรค์ภายในงาน “สื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ เด็กบันดาลใจ คิดได้ คิดเป็น” โดยมีการประกวดสื่อสร้างแรงบันดาลใจ ในหัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” ซึ่งผนวกเนื้อหาของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะและแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายเข้าด้วยกัน เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประกวดได้ทำสื่ออย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้น มิวสิควีดีโอ เพลง หรือสื่ออื่นๆ รวมทั้งการผลิตโปสเตอร์ สื่อเผยแพร่ โดยมีชิ้นงานส่งเข้าประกวดถึง 200 ชิ้นงาน เน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งเด็กมัธยม มหาวิทยาลัย เพื่อนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน โดยผลงานที่ได้รับรางวัลนั้นจะถูกต่อยอดนำไปผลิตเป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อใช้จริงทั้งในโรงเรียนสังกัด กทม.และโรงเรียนเทศบาลทั่วประเทศต่อไป
“การมอบรางวัลสื่อสร้างสรรค์นั้น จะมีการต่อยอดและแตกแขนงสาขาของรางวัลออกไป เช่น การมอบรางวัลสื่อสร้างสรรค์ในสาขาบันเทิงต่างๆ เพื่อทำให้คนในสังคมเห็นความสำคัญของการผลิตสื่อสร้างสรรค์ และหันมาใส่ใจร่วมแก้ไขปัญหา โดยจะทำอย่างต่อเนื่องในระหว่างปีเรื่อยๆ ซึ่งสื่อสร้างสรรค์นั้นจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศที่ดีขึ้น”นายดนัย กล่าว
ด้าน นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า การประกาศรางวัลเกียรติคุณเพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนทำงานและเพื่อเป็นการขยายกำลังใจไปสู่คนทำงานอื่น เพิ่มพื้นที่การทำสื่อสร้างสรรค์ให้มากขึ้น สำหรับรางวัลที่มอบในครั้งนี้ ประกอบด้วย รางวัลสาขาactive citizen พลังสื่อพลเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ประเภทหนังสั้น สารคดี มิวสิควิดีโอ รายการ ถ่ายภาพ วิทยุ ประเภทสื่อโฆษณา Viral Clip Poster ป้าย สื่อรณรงค์ Social Network วรรณกรรมและการ์ตูน งานบูรณาการ 4 ภาค รางวัลสาขาสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งมีทั้งบุคคล ชุมชน ท้องถิ่น แกนนำชุมชน การสร้างนวัตกรรมเป็นต้น และรางวัลสาขาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบจากโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งพิจารณาจากการบริหาร กระบวนการจัดการ และสร้างการมีส่วนร่วม เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่เน้นในการมอบรางวัล คือ การใช้กระบวนการสื่อสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ชุมชนท้องถิ่นหันมาสนใจและสนับสนุนการแก้ปัญหา รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่พลเมืองตื่นรู้ที่พร้อมจะช่วยกันขับเคลื่อนสังคมให้เป็นสังคมสุขภาวะ
นางสุดใจ กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เช่น ในศูนย์เด็กเล็กที่ใช้กระบวนการสื่อสร้างสรรค์ส่งผลให้ครูเริ่มปิดทีวีและใช้สื่ออื่นในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างเหมาะสม การทำสื่อเพื่อกระตุ้นการอ่าน ซึ่งทำให้เด็กเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและใช้การอ่านทำประโยชน์ด้วยการอ่านหนังสือให้ผู้ป่วย และส่งเสริมการอ่านในชุมชนให้เพิ่มขึ้น และ การส่งเสริมชุมชนให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนจนสามารถลดปัญหาในชุมชน เช่น การทะเลาะวิวาทลง อีกทั้ง ยังพบว่าการใช้กระบวนสื่อสร้างสรรค์ของผู้ที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณในครั้งนี้ หลายโครงการได้เป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้พื้นที่อื่นๆได้นำไปพัฒนาต่อ
สำหรับงานมหกรรมสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ # เด็กบันดาลใจ เป็นการรวมองค์ความรู้เชิงปฏิบัติในการพัฒนาเด็กในแต่ละช่วงวัย จนกระทั่งเดินทางไปถึงวัยผู้ใหญ่ หวังว่าคนที่มาร่วมงานไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะเกิดแรงบันดาลใจ ได้ไอเดียใหม่ๆ นำกลับไปต่อยอดปฏิบัติพัฒนาเด็กๆให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ ที่คิดได้ คิดเป็น และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข