สนับสนุนสิ่งที่ลูกชอบให้ถูกทาง

ที่มา : SOOK Magazine No.73


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


สนับสนุนสิ่งที่ลูกชอบให้ถูกทาง thaihealth


ความรักที่พ่อแม่มีให้ลูกนั้นยิ่งใหญ่ ทั้งการดูแลใส่ใจ วางแผนชีวิต เปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดในทุกเส้นทางของลูก ในบางครั้งพ่อแม่จึงอาจมองข้ามสิ่งที่ลูกถนัดหรือ ชอบ เพราะอาจมองว่าสิ่งที่วางแผนให้ลูกนั้นคือสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งความจริงแล้วการสนับสนุนลูกอย่างเหมาะสม ไม่เพียงแต่ทำให้ลูกมีความสุขยังช่วยเพิ่มศักยภาพของลูกให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้


ปรับมุมมองสนับสนุนสิ่งที่ลูกถนัด


พ่อแม่ควรพิจารณาสิ่งที่ลูกชอบว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร หากเป็นกิจกรรมที่ส่งผลเสียมากกว่า เช่น การเล่นเกมหรือการใช้สื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมก็ไม่ควรสนับสนุน แต่ถ้าเป็นกิจกรรมที่เกิดผลดี เช่น ศิลปะ กีฬา ฯลฯ ก็ควรทำความเข้าใจว่า กิจกรรมบางอย่างอาจจะเสริมทักษะ เช่น ความคิด สร้างสรรค์ สมาธิ การแก้ปัญหานอกกรอบ ทักษะการสื่อสาร ฯลฯ ซึ่งลูกจะได้ทักษะที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการนั่งเรียนเพียงอย่างเดียว


นอกจากนี้พ่อแม่ไม่ควรคาดหวังและบังคับลูกในสิ่งที่ไม่ถนัด ควรจะเลือกมองในมุมที่ทำให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเอง เช่น ลูกอาจจะผลการเรียนไม่ได้ดีมาก แต่มีการดูแลช่วยเหลือตนเองได้ดี หรือมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ฯลฯ พ่อแม่คำนึงถึงจิตใจลูกเป็นหลัก ถ้าลูกไม่ชอบสิ่งใดก็ไม่ควรบังคับ แต่ชวนลูกสำรวจกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีหลากหลาย เพื่อจะได้พบกิจกรรมที่ชอบและทำร่วมกันอย่างมีความสุขได้


ผลดีเมื่อสนับสนุนลูกในสิ่งที่ชอบหรือถนัด


หากพ่อแม่สนับสนุนในสิ่งที่ลูกชอบหรือถนัด นอกจากช่วยให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) แล้ว ยังทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองได้ เนื่องจากกิจกรรมบางอย่างอาจจะช่วยเสริม ทักษะที่ลูกไม่สามารถได้จากการเรียนอย่างเดียว เช่น ความคิดสร้างสรรค์ สมาธิ การแก้ปัญหานอกกรอบ ทักษะการสื่อสาร ฯลฯ


ดังนั้นในช่วงก่อนวัยเรียน พ่อแม่ควรพาลูกไปทำกิจกรรมให้หลากหลาย เพื่อสำรวจความชอบของลูก โดยหัวใจสำคัญคือ พ่อแม่จะต้องร่วมทำกิจกรรมไปกับลูก สนุกไปกับลูก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางจิตใจ ความใกล้ชิดและความอบอุ่นกับพ่อแม่ และเมื่อถึงวัยเรียนพ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกอยู่ในกรอบของการแบ่งเวลาให้เหมาะสม มีกติกาที่ตกลงร่วมกัน เช่น ทำหน้าที่ของตนเองก่อน ถึงจะทำสิ่งที่ชอบต่อไป หรือให้เวลาอิสระกับลูกในช่วงวันหยุด เป็นต้น


ค้นหาความถนัดแท้จริงในตัวลูก


1. เปิดโอกาส เปิดใจ


2. ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ ดูหนังสือที่หลากหลาย เล่นเกมร่วมกัน ฯลฯ


3. สังเกตผลการเรียน วิชาที่ลูกทำคะแนนได้ดี


4. กระตุ้นและส่งเสริมให้ลูกดึงความถนัดออกมา ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่ครอบคลุม เช่น ดนตรี กีฬา ฯลฯ


5. ทดสอบความถนัดกับผู้เชี่ยวชาญ


ประโยคไม่ควรพูดเมื่อไม่ เห็นด้วยในสิ่งที่ลูกชอบ เมื่อไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ลูกชอบพ่อแม่ไม่ควรใช้คำพูดที่ลดคุณค่าในตัวลูกหรือคำพูดที่ทำให้เสียใจ เช่น ไร้สาระ ไม่ได้เรื่อง ดูลูกบ้านอื่นบ้าง เป็นต้น แต่ถ้าสิ่งนั้นทำให้เกิดผลเสียก็ควรค่อย ๆ พูดกับลูกด้วยความละเอียดอ่อนและห่วงใย อธิบายให้ลูกฟังด้วยเหตุและผล

Shares:
QR Code :
QR Code