สธ.ไทย จับตา “ไข้โอโรพุช” ครั้งแรกของโลกในบราซิล คล้ายไข้เลือดออกรุนแรง เตือน!! หากเดินทาง มีไข้ ควรแจ้งประวัติ
ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข
สธ.ไทย จับตา “ไข้โอโรพุช” บราซิลรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้เป็นครั้งแรก 2 ราย นับเป็นครั้งแรกของโลก! อาการคล้ายไข้เลือดออกรุนแรง ชี้พาหะนำโรค คือริ้นชนิด Culicoides paraensis แนะนำผู้ที่เดินทางมาจากบราซิล มีอาการป่วยให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขประเทศบราซิล มีรายงานเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 พบผู้เสียชีวิตจากโรค “ไข้โอโรพุช” (Oropouche fever) เป็นครั้งแรกของโลก จำนวน 2 ราย ว่า รายงานของกระทรวงสาธารณสุขบราซิล ระบุว่า ผู้เสียชีวิตทั้งสองรายเป็นเพศหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี อาศัยอยู่ที่รัฐบาเอีย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยทั้งคู่มีอาการป่วยคล้ายกับโรคไข้เลือดออกเดงกี่ที่มีอาการรุนแรง
ซึ่งในอดีตยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตด้วยโรคไข้โอโรพุชมาก่อน ทั้งนี้ มีรายงานพบผู้ป่วยโรคนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ที่สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก และในหลายทศวรรษที่ผ่านมาเคยมีรายงานพบการระบาดในบางประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยพบมากที่สุดที่ประเทศบราซิล จำนวนรวม 7,236 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2567) และยังมีรายงานผู้ป่วยในประเทศโบลิเวีย, เปรู, คิวบา และโคลอมเบียด้วย แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการระบาดของโรคนี้ในทวีปอื่นๆ รวมทั้งทวีปเอเชีย
ประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังโรคติดต่อภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว และมีประสบการณ์รับมือกับโรคติดต่อจากต่างประเทศมาหลายครั้ง เช่น ฝีดาษวานร โควิด 19 ซึ่งในการระบาดของโรค “ไข้โอโรพุช” ครั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน
ทั้งนี้ ไข้โอโรพุชมีริ้นชนิด Culicoides paraensis เป็นพาหะนำโรค แต่ทั้งริ้นชนิดนี้และเชื้อไวรัสโอโรพุชยังไม่เคยพบในประเทศไทย จึงมีคำแนะนำสำหรับประชาชนที่เดินทางไปในประเทศที่มีรายงานการระบาดของโรคนี้ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ให้ป้องกันตนเองระหว่างที่เดินทางในต่างประเทศ โดยสวมเสื้อและกางเกงขายาว และทาโลชั่นกันยุงเพื่อป้องกันยุงและริ้น และหากเดินทางกลับมาแล้วมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ หรือรีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป