สธ.เห็นชอบ กม.ห้ามขาย-ดื่มน้ำเมาในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รง.-รถยนต์
สธ.เห็นชอบ กม.ห้ามขาย-ดื่มน้ำเมาในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รง.-รถยนต์ เพื่อสร้างความปลอดภัยในสังคมจากปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
น.พ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 รวม 4 ฉบับ ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นการขยายพื้นที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยในสังคมจากปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งอุบัติเหตุจราจร ลดการเจ็บป่วย รวมทั้งความรุนแรงในสังคมอื่นๆ โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติในวันที่ 16 พ.ค.55 เพื่อพิจารณาก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
น.พ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่พิจารณาเห็นชอบมี 3 ฉบับ ได้แก่ 1.การห้ามขายหรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ในส่วนที่เป็นอาคาร สถานที่ หรือมียานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป ไม่ว่าจะใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตามยกเว้นพื้นที่สโมสรหรือที่พักอาศัย และกรณีโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขายตามปกติทางธุรกิจ และการดื่มที่เป็นขั้นตอนการผลิตหรือเพื่อรักษามาตรฐานการผลิตซึ่งประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด180 วัน หลังจากลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา 2.การห้ามขายหรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐเช่น องค์กรมหาชน ยกเว้นร้านค้า หรือสโมสรพักส่วนบุคคล สโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี โดยประกาศฉบับนี้ไม่บังคับใช้กับองค์การสุรา จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
3.การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถยนต์ทุกประเภทตั้งแต่ 3 ล้อขึ้นไป ทั้งผู้ขับและผู้โดยสาร เนื่องจากพบว่าอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีความรุนแรงขึ้น แม้จำนวนครั้งน้อยกว่าปี 2554 แต่จำนวนผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากรถกระบะบรรทุกคนจำนวนมาก และคนขับและคนนั่งโดยสารดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนการห้ามขาย หรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะและการห้ามขายเหล้าปั่นนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่าการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะมีกฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกอยู่แล้ว และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปทำความเข้าใจและศึกษาผลกระทบเรื่องการห้ามดื่มบนทางสาธารณะกับผู้เกี่ยวข้องคือ ประชาชน และผู้ดูแล ผู้บังคับใช้กฎหมาย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพสามิต และ กทม. และให้นำเข้าที่ประชุมครั้งต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง