สธ.เผยเด็ก 9 ขวบเข้าบำบัดติดยา พบยาบ้ายังฮิตในหมู่นักเสพ
สธ.เร่งบำบัดผู้เสพยา อายุต่ำสุดแค่ 9 ขวบ โดยเสพยาบ้ามากสุด พบหลงผิดใช้ยาแก้ปวด ผสมแก้ไอ น้ำอัดลม ชี้ อันตรายถึงตาย
นต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเลขาคณะทำงานป้องกันปราบปรามฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายในการบำบัด รักษาผู้เสพ และผู้ติดยาเสพติด 400,000 ราย โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-30 มิ.ย.2555 พบว่า ผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษาแบบสมัครใจ 249,397 คน เข้ารับการบำบัดแบบบังคับรักษา 112,124 คน และเข้ารับการบำบัด เพราะต้องโทษ 11,465 คน รวมทั้งสิ้น 372,986 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 93.25 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ การบำบัดรักษาแบบสมัครใจ ได้ให้ผู้เสพ เข้ารับการบำบัดในค่ายพลังแผ่นดินและจิตสังคมบำบัดในโรงเรียน ซึ่งมีในชุมชนทั่วประเทศ ส่วนผู้ติดยาเสพติด เข้ารับการบำบัดในสถานบำบัดของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ
“ผู้ที่เข้ารับการบำบัด พบว่า เป็นผู้ใช้ยาแอมเฟตามีน หรือยาบ้า ร้อยละ 70 ใช้กัญชา ร้อยละ 20 นอกจากนั้น เป็นพวกสารอื่นที่ไม่ใช่ยาเสพติด และพบว่า การเสพยาไอซ์ ก็มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยที่น่าเป็นห่วง คือ อายุต่ำที่สุดที่เข้ารับการบำบัดอายุเพียง 9 ปี และผู้หญิงมีสัดส่วนการเข้ารับบำบัดมากขึ้นจากเดิมที่พบประมาณร้อยละ 5 เพิ่มเป็นร้อยละ 20 ซึ่งการที่มีค่ายพลังแผ่นดินและการดูแลบำบัดในชุมชน ซึ่งจะมีการเข้าค่าย 9 วัน และติดตามอีก 1 ปี ทำให้ช่วยลดการกลับมาเสพซ้ำได้” นต.นพ.บุญเรือง กล่าว
นต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ในกลุ่มของผู้เสพสารอื่นที่ไม่ใช้ยาเสพติดตามที่กฎหมายกำหนด พบว่า มีการใช้ยาหลายๆ ชนิดที่ไม่ได้อยู่ในบัญชียาควบคุมพิเศษ คล้ายลักษณะของ 4×100 ซึ่งเป็นความเชื่อผิดๆ และทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น การกินยาแก้ปวดชนิดอย่างแรง ผสมกับยาแก้ไอ และ น้ำอัดลม ซึ่งฤทธิ์ของการกินผสมกันกลุ่มผู้เสพ เชื่อว่า จะทำให้เคลิ้มๆ เบาๆ เหมือนการเสพยา แต่ความจริงแล้ว การกินยากลุ่มนี้จะเกิดอันตรายได้ โดยทำให้ความดันโลหิตสูง การเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ยังมีฤทธิ์กดสมองทำให้ซึม หากมากเกินไปอาจกดสมองส่วนทางเดินหายใจ และทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าจะทำให้เกิดอาการหูแว่ว ประสาทหลอน และเกิดโรคซึมเศร้าได้ ทั้งนี้ นโยบายการควบคุมและบำบัดยาเสพติด ในปีงบประมาณถัดไปจะเน้นไม่ให้ผู้เสพกลับมาติดซ้ำและเร่งบำบัดผู้เสพรายใหม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ