สธ.เผยเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเพิ่มขึ้น
จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียมานานกว่า 10ปี ของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดในประเทศไทยมีแนวโน้มดื้อยาเพิ่มขี้น
น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียมานานกว่า 10ปี ของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดในประเทศไทยมีแนวโน้มดื้อยาเพิ่มขี้น ได้แก่ เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในโรงพยาบาล พบมีการระบาดของเชื้อชนิดนี้และดื้อยาหลายชนิดพร้อมกันสูงถึง 55%นอกจากนี้ เชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนีย ที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1ในเด็กอายุต่ำกว่า 5ปี มีอัตราการดื้อยาเพนนิซิลินและยาอิริโธมัยซินมากกว่าเด็กในวัยอื่นส่วนเชื้ออีโคไลที่ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ และการติดเชื้อในช่องท้อง ดื้อยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ออกฤทธิ์กว้าง ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่หาซื้อได้ง่าย จึงทำให้มีการใช้เกินความจำเป็นทำให้เกิดการดื้อยา และเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา ซึ่งเป็นเชื้อฉวยโอกาสทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ และระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งขณะนี้มีการดื้อยาหลายชนิดพร้อมกัน 13%และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ
รมช.สาธารณสุข กล่าวต่ออีกว่า ล่าสุดยังพบว่ามีการอุบัติใหม่ของเชื้อก่อโรคในโรงพยาบาลที่ดื้อยาทุก ขนานอีกด้วย หากไม่มีการควบคุมการใช้ยาโดยไม่จำเป็น หรือไม่มีการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด ลูกหลานในอนาคตอาจจะไม่มียาปฏิชีวนะที่สามารถใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียได้อีกต่อไป ดังนั้นความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อควบคุมการใช้ยาทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นมาตรการหนึ่งในการชะลอเชื้อดื้อยา การควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาโดยเฉพาะในโรงพยาบาลก็เป็นมาตรการในการลดการแพร่เชื้อดื้อยาสู่ผู้ป่วยอื่นบุคลากรทางการแพทย์ ชุมชน สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาและการเฝ้าระวังการใช้ยามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลสถานการณ์เชื้อดื้อยาและพฤติกรรมการใช้ยา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมเชื้อดื้อยาและสามารถเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินการควบคุมเชื้อดื้อยาด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง