สธ.เผยจุดเสี่ยง-เฝ้าระวัง 4-6 สัปดาห์ เข้ม 50 เขตตัดวงจรมือเท้าปาก
อธิบดีกรมควบคุมโรคยันไวรัสมือเท้าปากไม่รุนแรง-ไม่กลายพันธุ์ พบป่วย 13,918 คน คาดระบาดต่อ 4-6 สัปดาห์ เข้มห้าง-เครื่องเล่น กทม. 50 เขต เร่งตัดวงจรโรคเขมรปิดเรียนทั่วประเทศ
หลังจากผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่าพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากมากที่สุดในรอบ 30ปี อีกทั้งเชื้อมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงการกระจายช่วงอายุที่สูงขึ้นจากเดิมจะพบมากในกลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 5ปี ได้ลามสู่ผู้ป่วยอายุไม่เกิน 12ปีนี้ เมื่อวันที่ 18กรกฎาคม นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่อยากให้ตื่นตระหนก เพราะเชื้อนี้ไม่ใช่เชื้อใหม่ และไม่มีการกลายพันธุ์ใดๆ ทั้งสิ้น
กรมควบคุมโรคยันเชื้อไม่รุนแรง
อธิบดีกรมควบคุมโรคยืนยันว่า เชื้อไวรัสมือเท้าปากที่พบในผู้ป่วยปี 2555 คือคอกซากี เอ 6และเอนเทอโรไวรัส 71สายพันธุ์บี 5เป็นเชื้อที่เคยพบอยู่ก่อน แม้แต่เอนเทอโรไวรัส 71สายพันธุ์ซี 4ที่พบในเวียดนามก็เคยพบในไทย แต่ไม่รุนแรง เพราะสามารถควบคุมได้ สรุปคือ ปีนี้เชื้อไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด ส่วนที่พบจำนวนมากในช่วง 1-2เดือนนี้ เนื่องจากเป็นช่วงก่อโรค เป็นฤดูฝน มีความอับชื้น ระบายอากาศไม่ดี ทำให้แหล่งชุมชน หรือแหล่งคนจำนวนมาก เช่น โรงเรียน อนุบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีโอกาสติดเชื้อและแพร่กระจายสูง
“ประเด็นเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่การเปลี่ยนกลุ่มการรับเชื้อจากเด็กเล็กไปเป็นเด็กโตนั้น ข้อเท็จจริงต้องบอกว่า เชื้อไวรัสมือเท้าปากจะติดตามคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันแล้ว รวมทั้งคนที่เคยติดเชื้อแล้วจะไม่เป็นอีก แต่ในกรณีข่าวที่พบปิดโรงเรียนประถมวัย ต้องดูว่าเด็กกลุ่มดังกล่าวกลุ่มอายุเท่าไหร่ หากต่ำกว่า 12ปีก็ถือว่าปกติเพราะอยู่ในข่ายไม่มีภูมิต่อเชื้อ” นพ.พรเทพกล่าว
ส่วนมาตรการป้องกันนั้น นพ.พรเทพแนะว่าไม่แตกต่างทั้งในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรืออนุบาลปฐมวัย และระดับมัธยม กล่าวคือ หากพบเด็กได้รับเชื้อในห้องเรียนเกิน 2คน ให้ปิดห้องเรียน หากพบป่วยในระดับชั้นเดียวกันเกิน 3คน ต้องปิดการสอนทั้งระดับชั้น และหากพบป่วยกระจายในระดับชั้นต่างไม่เกิน 5ห้องเรียน ต้องปิดโรงเรียนชั่วคราวประมาณ 1สัปดาห์ เพื่อตัดช่องทางการแพร่กระจายเชื้อทันที ส่วนสถานการณ์ที่สาธารณะ ห้างสรรพสินค้า เครื่องเล่นต่างๆ ก็ต้องระวังเรื่องความสะอาด ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคมีแผนจะหารือกับภาคส่วนต่างๆ ในการรณรงค์ทำความสะอาดเครื่องเล่นและห้องน้ำสาธารณะให้ปลอดโรค
ย้ำไม่กลายพันธุ์-ระบาดอีก 6สัปดาห์
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกรมควบคุมโรค ในฐานะผู้อำนวยการสำนักโรคอุบัติใหม่ ย้ำว่าเชื้อไวรัสมือเท้าปากที่พบขณะนี้ไม่ใช่เชื้อสายพันธุ์ใหม่ ไม่พบการกลายพันธุ์ แต่เป็นกลุ่มเชื้อไวรัสที่อยู่ในธรรมชาติและหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงการระบาดไปทุกปี ส่วนที่พบในเด็กชั้นประถมที่อายุต่ำกว่า 12ปี ก็เป็นเรื่องปกติ และพบการระบาดมากสุดในกลุ่มเด็กต่ำกว่า 5ปี
ส่วนโรงเรียนที่ปิดการเรียนการสอนชั่วคราว หลังจากพบเด็กนักเรียนป่วยนั้น ขอชื่นชม เพราะเป็นการสกัดกั้นการระบาดที่ดีที่สุด ขณะที่บางโรงเรียนที่เคยปิดทำความสะอาด แต่ยังพบเด็กป่วยขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ คือ ทุกเช้าก่อนเข้าเรียนให้มีการตรวจกระพุ้งแก้มเด็กว่ามีบาดแผล หรือมีไข้หรือไม่ จะช่วยคัดกรองได้ระดับหนึ่ง
“ขณะนี้สถานการณ์ระบาดของโรคมือเท้าปากพบผู้ป่วย 13,918คน ถือว่าอยู่ในช่วงระบาดสูง แต่เชื่อว่าจะระบาดต่อเนื่องอีก 4-6สัปดาห์ จากนั้นอัตรการป่วยจะค่อยๆ ลดลง ดังนั้นขอประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก อยู่ที่การป้องกัน โดยผู้ปกครองหมั่นสังเกตบุตรหลาน หากมีไข้สูงเกิน 3วัน คลื่นไส้ มีตุ่มน้ำตามฝ่ามือ เท้าควรพบแพทย์ทันที” นพ.รุ่งเรืองกล่าว
“สุชาติ” เชื่อ ร.ร.ไม่ปิดข้อมูล
ภายหลังโรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ประกาศปิดเรียนชั่วคราวนั้น ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการประสานกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือโรคมือเท้าปาก โดยจัดส่งแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญไปยังโรงเรียนที่มีปัญหาทันทีเพื่อดูผู้ป่วย ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ ส่วนการปิดเรียนให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บริหารโรงเรียน
“ปีนี้ไม่ได้รุนแรงกว่าปีที่แล้ว ที่ดูรุนแรงเพราะมีการเสนอข่าว ฉะนั้นขอให้ประชาชนผู้ปกครอง นักเรียน อย่ากังวลใจ และยืนยันว่า ไม่มีโรงเรียนใดตั้งใจจะปกปิดข้อมูลในเรื่องนี้ ผู้บริหารโรงเรียนทุกแห่งพยายามดูแลแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่” ศ.ดร.สุชาติกล่าว
ด้าน ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ข้อมูลเมื่อช่วงเย็นวันที่ 17กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่านักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ป่วยโรคมือเท้าปากรวมทั้งหมด 43คน จากโรงเรียน 7แห่ง ใน 6เขตพื้นที่การศึกษา เพิ่มเติมจากตัวเลขเมื่อวันที่ 16กรกฎาคม ที่พบจำนวน 38คน ใน 5โรงเรียน
กทม.สั่ง 50เขตเร่งตัดวงจรโรค
วันเดียวกัน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มอบนโยบายเกี่ยวกับการควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด ได้แก่ สำนักงานเขต 50เขต ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68แห่ง ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
พญ.มาลินีกล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้เฝ้าระวังโรค คัดแยกผู้ติดเชื้อออกทันทีที่ตรวจพบ และการรักษาความสะอาดพื้นที่เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อ โดยจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่ที่มีเด็กมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก อาทิ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนโรงเรียนอนุบาล และสวนสนุกในห้างสรรพสินค้าอีกทั้งมอบหมายให้ทุกสำนักเขตจัดประชุมประเมินผล และติดตามความคืบหน้าเป็นระยะหากโรงเรียนใดพบเด็กติดเชื้อให้ทางโรงเรียนหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครู และผู้ปกครอง ก่อนปิดโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถานการณ์โรคมือเท้าปากที่พบในประเทศไทยไม่เป็นอันตรายรุนแรงเหมือนกับที่พบในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดการกลายพันธุ์ จึงไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต มั่นใจว่า กทม.สามารถควบคุมสถานการณ์ของโรคได้ เช่นเดียวกับการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009
ทั้งนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีโรงเรียนสังกัด กทม. สพฐ. และเอกชน พบเด็กติดเชื้อโรคมือเท้าปาก และปิดโรงเรียนทั้งโรงเรียนรวม 22แห่ง และปิดบางส่วน 12แห่ง โดยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโรคมือเท้าปากได้ที่กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย โทร.0-2354-1836ในวันและเวลาราชการ
ต่างจังหวัดทยอยปิดศูนย์เด็กเล็ก
นพ.วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากแล้ว 45คน รวมยอดสะสม 480คน ล่าสุดโรงเรียนอนุบาลเอกชนชื่อดัง 2แห่ง ในย่านชุมชนป่าตัน ต.ช้างเผือก และย่านสถานีรถไฟ ต.วัดเกต อ.เมือง สั่งปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 7วัน เพื่อให้ทางโรงเรียนล้างทำความสะอาดและฉีดยาฆ่าเชื้อ
นพ.ขจร วินัยพาณิชย์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการสั่งปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแพะ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านน้ำลอก ต.บ่อทอง และศุนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดเทศบาลทองแสนขัน อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ รวม 5แห่ง หลังพบเด็กป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก พร้อมทั้งประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครศรีธรรมราชว่า ผู้ปกครองนักเรียนชั้นเด็กเล็กเริ่มกังวลโรคมือเท้าปาก แม้หลายโรงเรียนจะเริ่มเปิดเรียนอีกครั้ง หลังจากปิดเรียน 5วัน เพื่อทำความสะอาดโรงเรียน เนื่องจากพบเด็กป่วยด้วยโรคนี้หลายคน ทำให้ผู้ปกครองนำนักเรียนมาโรงเรียนบางตา
นายพิทยา แต่งเกลี้ยง หัวหน้างานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 17กรกฎาคม จำนวน 301คน และมีรายงานโรงเรียนปิดการเรียนอยู่ 6แห่งในพื้นที่ 4อำเภอ
ผอ.รร.เมืองกาญจน์หวั่นลามเด็กโต
เช่นเดียวกับที่โรงเรียนเทศบาล 3 (บ้านบ่อ) ถนนแสงชูโต เขตเทศบาลเมืองกาญจนบุรี พบเด็กอายุ 8ปี 2คนป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก และเฝ้าระวังอีก 1คน พร้อมทั้งปิดห้องเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2จำนวน 4ห้องเรียน เป็นเวลา 7วัน โดยให้เด็กหยุดเรียนจำนวน 170คน ทั้งนี้ นางบุษบา กาญจน์วารีทิพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 3 (บ้านบ่อ) กล่าวว่า ชั้นเรียนอื่นยังเปิดเรียนตามปกติ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนยังกังวลว่าโรคมือเท้าปากจะระบาดไปยังเด็กโตหรือไม่ จึงระดมนักเรียนทุกชั้นเร่งทำความสะอาด
นพ.มนัส โสภณพงศ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ได้ประสานไปยังสาธารณสุขจังหวัดเกาะสอง ประเทศพม่าเพื่อเปลี่ยนข้อมูลและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปาก
น.ส.จงรักษ์ ศรีทิพย์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบอลนครปฐม ตั้งอยู่ถนนเทศบาลซอย 5ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13กรกฎาคม ที่ผ่านมา นักเรียนชั้นอนุบาลป่วยโรคมือเท้าปาก จึงประกาศปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 18-22กรกฎาคม ทำความสะอาดภายในโรงเรียน เพื่อความปลอดภัยของเด็กระดับอนุบาลถึงชั้น ป.6กว่า 3,000คน
เขมรปิดโรงเรียนเลี่ยงไวรัสระบาด
วันเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการกัมพูชามีคำสั่งปิดโรงเรียนอนุบาลและประถมทั้งหมดในประเทศ เพื่อหลักเลี่ยงการระบาดของเชื้อไวรัสอีวี 71ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เด็กกัมพูชาจำนวนหนึ่งเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17กรกฎาคม นายมักวาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกัมพูชา เปิดเผยว่าสั่งการให้ปิดโรงเรียนอนุบาลและประถมทั้งหมดในประเทศ หลังจากได้รับรายงานว่าจำนวนเด็กที่มีไข้สูงเพิ่มเป็นจำนวนมากใน 9จังหวัดของกัมพูชา ทำให้เกิดความกังวลว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ที่เป็นสาเหตุของโรคมือเท้าปากจะระบาดอย่างรุนแรงขึ้นอีกครั้ง และกระทรวงศึกษาฯ ตระหนักดีว่า โรคดังกล่าวเป็นอันตรายต่อเด็ก จึงทำเรื่องขออนุญาตจากสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีในการออกคำสั่งปิดโรงเรียนอนุบาลและประถมเป็นการชั่วคราว
ขณะที่องค์การอนามัยโลก (ฮู) ยืนยันว่า เมื่อวันที่ 13กรกฎาคม เชื้อไวรัสอีวี 71เป็นสาเหตุของโรคมือเท้าปากที่กำลังระบาดในกัมพูชาและคร่าชีวิตเด็กที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ไปแล้ว 55คน จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 61คน ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถึง 50เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลกานธะโบผา ในกรุงพนมเปญ 3คนในโรงพยาบาลเมืองกัมปงจาม ส่วนอีก 2คน เสียชีวิตในโรงพยาบาลทาเคโอ และโรงพยาบาลเด็กแห่งชาติ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ฮูมองว่า การปิดโรงเรียนเป็นมาตรการที่ยังไม่จำเป็นในเวลานี้และเตือนแพทย์ผู้ทำการรักษาโรคมือเท้าปากที่มีสาเหตุมาจากไวรัสอีวี 71ให้ใช้กระบวนการรักษาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ เพราะจะกลบเกลื่อนอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสทำให้ผู้ป่วยมีอาการเลวร้ายลงในที่สุด
สาธิตจุฬาฯ ยันเปิด 23ก.ค.
ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ ศ.ดร.โสภณ เริงสำราญ อาจารย์ภาควิชาเคมี รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ภาควิชาเคมี รศ.ดร.สุเทพ ธรียวรรณ หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา รศ.ดร.ธนาภัทร ปาลกะ อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา และ รศ.สุปราณี จิราณรงค์ รองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ร่วมกันแถลงข่าวสูตรเจลฆ่าเชื้อโรคมือเท้าปากและสเปรย์นาโนฆ่าเชื้อ
รศ.สุปราณี กล่าวว่า โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จะเปิดเรียนในวันที่ 23กรกฎาคมนี้ เพราะระยะเวลา 6วัน น่าจะเพียงพอที่จะหยุดการแพร่กระจายของโรค ส่วนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค จะทำความสะอาดภายในห้องเรียน โต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์การเรียนที่เด็กต้องใช้ร่วมกัน รวมถึงเครื่องเล่นต่างๆ โดยใช้เจลและสเปรย์นาโนฆ่าเชื้อที่คณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ ผลิตขึ้น
รศ.ดร.สุเทพ กล่าวว่า ตามปกติแล้วเชื้อไวรัสสามารถควบคุมได้และตายเร็ว แต่เชื้อไวรัสโรคมือเท้าปากในเวลานี้เก่งมากสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมได้ 2-3วัน และรอดชีวิตได้ดีจึงต้องหาวิธีการใหม่ในการฆ่าเชื้อไวรัสตัวนี้
ผลิตเจล-สเปรย์ฆ่าเชื้อต้นทุนต่ำ
รศ.ดร.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันเจลฆ่าเชื้อโรคทั่วไปและเจลฆ่าเชื้อโรคไข้หวัด 2009ที่มีขายอยู่ตามทั้งตลาดไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคมือเท้าปากได้ เนื่องจากมีส่วนผสมของเอทิลแอลกอฮอล์เพียง 70%หากจะฆ่าเชื้อโรคมือเท้าปากได้ 100%จะต้องมีส่วนผสมของเอทิลแอลกอฮอล์ 95%ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จึงผลิตเจลฆ่าเชื้อโรคมือเท้าปาก โดยมีสูตรผสม ได้แก่ เอทิลแอลกอฮอล์ 92%คาร์โบพอล 0.3%น้ำ 5%โพรพีลีนไกลคอล 0.01%และไตรเอทเทอโนลามีน 0.1%ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคมือเท้าปากได้กว่า 90%โดยมีต้นทุนการผลิตขวดละ 135บาท ขนาด 100มิลลิกรัม รวมทั้งได้ผลิตสเปรย์นาโนฆ่าเชื้อโรคมือเท้าปากด้วย
“ทางคณะยินดีจะผลิตเจลและสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคมือเท้าปากให้แก่โรงเรียนต่างๆ ที่ขอเข้ามาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากยังมีเอทิลแอลกอฮอล์ที่เหลือจากการผลิตเจลป้องกันไข้หวัด 2009ประมาณ 200-300กิโลกรัม หรือโรงเรียนจะผลิตใช้เองตามสูตรที่บอกไว้ก็ได้ เพราะครูวิทยาศาสตร์แต่ละโรงเรียนจะมีความเข้าใจสูตรในการผลิต สามารถดูสูตรการผลิตได้ที่ www.sc.chula.ac.th” รศ.ดร.โสภณกล่าว
ที่มา:หนังสือพิมพ์คมชัดลึก